ข่าวรัฐสภา

อาคารรัฐสภา 2 นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงถึงการประชุม สนช

วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เวลา 14.45 นาฬิกา ณ ศูนย์บริการ (Call Center) ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงถึงการประชุม สนช. ว่าในวันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2561 จะมีการขอให้ สนช. มีมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 103 วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2561 ครั้งที่ 104 วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561 และครั้งที่ 105 วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2561 และบันทึกการประชุมลับมาก จำนวน 1 ครั้ง คือ ครั้งที่ 106 วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561 จากนั้น จะมีการขอขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จำนวน 1 ฉบับ ออกไปอีก 90 วัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….
สำหรับในวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 มีรายงานการพิจารณาศึกษาที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 2 เรื่อง คือ นโยบายและแนวทางการส่งเสริมให้มวลชนมีการออกกำลังกายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬา และแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล
โฆษกวิป สนช. เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมวิป สนช. ได้เชิญนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงในประเด็นการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ผ่านความเห็นชอบ 5 ท่านว่าสามารถที่จะเลือกประธาน กกต. ตามมาตรา 12 วรรค 9 ได้หรือไม่ ซึ่งนายอุดม รัฐอมฤต อ้างถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 12 วรรค 9 นั่นก็คือ มาตรา 206 และมาตรา 217 เพื่อประกอบการพิจารณา โดยในการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 206 ถ้ามีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธาน แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ได้รับความเห็นชอบครบ 9 คน และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ และตามมาตรา 217 เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 ที่จะดำเนินการสรรหา เว้นแต่กรรมการสรรหาตามมาตรา 203 (4) ให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่งแต่งตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่มิใช่องค์กรอิสระที่ต้องมีการสรรหา โดยให้นำความในมาตรา 203 204 205 และ 206 มาใช้บังคับแก่การสรรหาตามวรรค 1 โดยอนุโลม เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการที่ยังไม่พ้นจากตำแหน่งเพื่อเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธาน แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ที่ประชุม วิป สนช. จึงสรุปให้คณะกรรมการสรรหาเชิญ กกต. ทั้ง 5 ท่านประชุมเพื่อเลือกคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน กกต. แล้วประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน