Uncategorized

จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดปฐมฤกษ์ลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นาแปลงใหญ่ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดปฐมฤกษ์ลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นาแปลงใหญ่ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับมอบหมายจากนาย วันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการเปิดปฐมฤกษ์ลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นาแปลงใหญ่ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องเกษตรกรชาวนาเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยได้มีโยบายสำคัญเร่งด่วน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการในทันที ระยะที่ 2 คือการแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ในพื้นที่ และระยะที่ 3 คือการวางรากฐานเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายและภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวไทยโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรชาวนา ทั้งในด้านการบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้การวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกษตรเกิดการรวมกลุ่ม ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ บริหารจัดการร่วมกัน ร่วมกันวางแผนการผลิต และร่วมกันจำหน่วย รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต และโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิอินทรีย์พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ดให้มีปริมาณและคุณภาพยอดเยี่ยมเกรดพรีเมี่ยม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้จังหวัดร้อยเอ็ด “เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานและเมืองสุขภาพ ในปี พ.ศ.2564
สำหรับเกษตรแปลงสาธิตการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 

ราย นายสุพงษ์ รัตนสมัย ในครั้งนี้ เข้าร่วมโครงการกลุ่มนาแปลงใหญ่ โครงการส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ GI แบบครบวงจรตำบลเมืองบัว จึงปรับเปลี่ยนวิธีทำนาแบบนาหว่านมาเป็นนาดำ กลับมาใช้ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษและลงมือทำนาแบบ SRI (System of Rice Intensification) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้นเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว”ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบ 1 ต้น ต่อ 1 หลุม ห่างกันประมาณ 40 ซม. (แปลงสาธิตทดลองปักดำระยะ 30,40,50 ซม.) มีการควบคุมบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อให้ต้นข้าวมีการแตกกอมากขึ้น การปลูกข้าวแบบดำนาต้นเดียวนี้ คือ การทำนาแบบประณีต และทำนาแบบโคก หนอง นา MODEL ณ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 

และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะที่น้องชาวนา ในเรื่องนโยบายเร่งด่วนและมาตรการช่วยเหลือชาวนา ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่รู้จัก และประชาสัมพันธ์เทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 นี้
ทั้งนี้เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งแสดงออกถึงความรักความสามัคคีให้คงอยู่คู่เกษตรกรสืบไป และเพื่อนำเกษตรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาเป็นตัวอย่างให้พี่น้องเกษตรกรทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ รวมถึงนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องมาแจ้งแก่เกษตรเพื่อเป็นทางเลือกในการทำนาปีต่อไป

///////
คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ
อำนวย ระดาบุตร บก.ข่าว
ส.ปชส.ร้อยเอ็ด