ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร

เกษตรกรไทยร่วมใจหยุดการเผาเพื่อสิ่งดีๆ

เกษตรกรไทยร่วมใจหยุดการเผาเพื่อสิ่งดีๆ

นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่กล่าวว่าหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดและพืชอื่นๆ เสร็จแล้ว เกษตรกรมักทำการเผาฟางข้าว ตอซังข้าว ซังข้าวโพด หรือเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกพืชใหม่ในฤดูการผลิตต่อไปและถ้าเป็นไร่อ้อย ก็จะเผาเพื่อสะดวกในการตัดและลดต้นทุนค่าจ้างตัด ดังนั้นการเผาในพื้นที่การเกษตรจะมีผลกระทบหลายด้าน ได้แก่

1. ด้านการเกษตร การเผาจะทำลายอินทรีย์วัตถุ และธาตุอาหารในดิน การเผาฟางข้าวเหมือนกับการเผาปุ๋ย ทำให้สูญเสียธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช โดยทำลายธาตุอาหารหลัก (N-P-K) คิดเป็นมูลค่าเงินได้ถึง 216 บาท/ไร่ กล่าวคือสูญเสีย ไนโตรเจน(N) ปริมาณ 6.9 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 79 บาท/ไร่ ,ฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 0.8 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 10 บาทต่อไร่ และโพแทสเซียม (K)ปริมาณ 15.6 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 172 บาท/ไร่
นอกจากนั้นการเผาในพื้นที่เกษตรยังทำลายดิน อินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดินลดต่ำลงโครงสร้างดินอัดแน่นไม่ร่วนซุยกักเก็บน้ำได้น้อยลง ทำลายน้ำในดิน ทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซสเซียส น้ำในดินระเหยสู่อากาศ ความชื้นในดินลดน้อยลง ทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ระบบนิเวศของดินไม่สมดุล เกิดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

2. ด้านผิดกฎหมาย หากผู้ใดทำการเผาอาจต้องระวางโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 218 และมาตรา 220 อาจถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 14,000 บาท

3. ด้านสุขภาพอนามัย ทำลายสุขภาพเป็นอันตรายต่อชีวิต ก๊าซคาบอนมอนนอกไซด์(CO) ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และถ้าได้รับจำนวนมากอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) ทำให้เกิดระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ เช่นลำคอ ซึ่งอาจทำให้แน่นหน้าอก และฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM10) ที่เกิดจากการเผาสามารถไปในระบบทางเดินหายใจ เกิดผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้หลอดลมอักเสบเป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคมะเร็งปอดได้

4. ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การเผาทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาจะลอยตัวขึ้นไปปนเปื้อนกับไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไอน้ำไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถรวมตัวและกลั่นตกลงมาเป็นฝนได้ ทำให้โลกร้อน เกิดปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วมขัง การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในที่โล่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาบอนไดออกไซด์ มอนนอกไซด์(CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์(N2O) ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ทำให้โลกร้อนขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เกิดน้ำท่วมหนัก ฝนแล้งเป็นเวลายาวนาน

5. ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันภาคเหนือตอนบนมักประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ทำให้อากาศไม่แจ่มใส ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย นอกจากนี้อาจเป็นข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศได้

ดังนั้นเกษตรกรไทยต้องร่วมใจหยุดเผาและสร้างทางเลือกเพื่อสิ่งดีๆ โดยการไถกลบฟาง/ตอซังทดแทนการเผา ทำให้โครงสร้างดินดี เพิ่มอินทรียวัตถุ เมื่อเปรียบเทียบแล้วฟาง/ตอซังข้าว 1 ไร่ มีปุ๋ยอยู่เป็นจำนวนมาก หากเผาทิ้งจะทำให้สูญเสียธาตุอาหารพืชในดินเทียบกับสุญเสียปุ๋ยสูตรต่างๆ เช่น สูญเสียปุ๋ยยูเรีย จำนวน 19.56 กิโลกรัม ,ปุ๋ยสูตร 16-20-0 จำนวน 35 กิโลกรัม ,ปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 34.86 กิโลกรัม ธาตุซิลิกอนที่ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงจำนวน 28 กิโลกรัม หรือจะนำเศษวัสดุการเกษตรผลิตเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและทำให้ผลผลิตปลอดภัยได้ รวมทั้งเมื่อหยุดเผาจะลดภาวะปัญหาหมอกควัน ทำให้สิ่งแวดล้อมและอากาศดีขึ้น สุขภาพอนามัยร่างแข็งแรง ชีวียั่งยืน เกษตรกรที่ร่วมใจหยุดเผาในไร่นาและสนใจสร้างทางเลือกที่ดีงามดังกล่าวติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดในพื้นที่.

ทรงวุฒิ ทับทอง