Uncategorized

รัฐบาลไทยเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดียมาร่วมฉลอง 72 พรรษาในหลวง ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2567 ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่

รัฐบาลไทยเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดียมาร่วมฉลอง 72 พรรษาในหลวง ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2567 ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงนิวเดลี และพระธาตุแห่งพระอัครสาวกขวา-ซ้าย คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาญจิสถูป อินเดีย มาประดิษฐานในไทยเป็นการชั่วคราว ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามแผนงาน เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอัครสาวก กำหนดถึงประเทศไทย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จะมีริ้วขบวนแห่ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ มหามณฑป ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนบูชา ตลอดเวลา 9 วัน แต่ละวันจะมีกิจกรรมเพื่อบูชา ทำบุญตั้งแต่เช้าถึงค่ำ

โอกาสนี้สาธุชนทั้งหลาย สามารถเดินทางเข้าชมและบูชาได้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 หอคำหลวง จ.เชียงใหม่ วันที่ 5 – 8 มีนาคม 2567 วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี วันที่ 10 – 13 มีนาคม 2567 และที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่ วันที่ 15 – 18 มีนาคม 2567 จากนั้นอัญเชิญไปประเทศกัมพูชา และกลับอินเดีย

สำหรับความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน แห่งมัลละกษัตริย์ นครกุสินารา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วิสาขบูชา) นั้น อีก 7 วันต่อมา จึงมีพิธีถวายพระเพลิง พระสรีระ สังขาร พระเพลิงเผาส่วนต่างๆ ของพระสรีระไปอย่างสิ้นเชิง คงเหลือส่วนต่างๆ ที่เพลิงไม่ไหม้ 1 (ผ้าที่ห่อหุ้มพระบรมศพชั้นในสุด 1 ผืน ชั้นนอก 1 ผืน 2) พระบรมอัฐิ 7 องค์ คือพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 พระรากขวัญทั้ง 2 พระอุณหิส 1 พระอัฐิทั้ง 7 นี้ไม่กระจาย สำหรับพระอัฐิส่วนอื่น แตกเป็นขนาดต่างๆ 3 ขนาด คือ 1) ขนาดใหญ่ มีประมาณเท่ากับเมล็ดถั่วแตก 2) ขนาดกลางมีประมาณ เท่าเมล็ดข้าวสารหัก 3)ขนาดเล็ก มีประมาณเท่า เมล็ดพันธ์ผักกาด “วาทะสร้างสันติ ของพราหมณ์ นามว่า โทณะ” เมื่อกษัตริย์เมืองต่างๆ ทรงทราบข่าวสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และพิธีถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงเสด็จเมืองกุสินารา พร้อมๆ กัน 7 เมือง โดยมีกองทัพของตนติดตามมาด้วย เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากเจ้ามัลละ แก่งกุสินารา เพื่อนำไปบรรจุในพระสถูป ให้ผู้ศรัทธาในเมืองของตนได้สักการะบูชา กษัตริย์จาก 7 เมือง ได้แก่ 1 ศากยะ แห่งกบิลพัสดุ์ 2 โกลิยะ แห่งรามคาม 3 กูลิยะ แห่ง อัลละกัปปะ 4 ลิจฉวี แห่งไวสาลี 5 อชาตศัตรู แห่งมคธ 6 ผู้ครองนคร แห่งเวฏฐทีปกะ 7 เจ้ามัลละ(ชื่อซ้ำกับมัลละกษัตริย์แห่งกุสินารา) แห่งปาวานคร แต่เจ้ามัลละแห่งกุสินารา มีมานะกษัตริย์ ไม่ยอมแบ่ง ทำให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ไม่พอใจ จึงว่า ถ้าไม่แบ่งให้โดยดี ต้องทำสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุกันแล้ว เป็นเรื่องโชคดีที่สงครามไม่เกิด เพราะพราหมณ์นามว่าโทณะ ใช้วาทะหรือลิ้นทูต สร้างสันติหรือสงบศึกได้

“อานิสงส์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ” ชาวพุทธนิยมไปสร้างบุญที่สังเวชนียสถาน 4 แห่งเพราะเชื่อว่ามีอานิสงส์คือได้บุญ ตายแล้วไปสู่สุคติ ถ้าได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จะมีอานิสงส์อย่างไร คำตอบนี้มีในหนังสือพระบรมสารีริกธาตุ วัดนางชี (พระอารามหลวง) ใกล้วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดนี้มีประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ ประจำทุกปี ในช่วงกลางเดือน 12 ได้กล่าวถึงอานิสงส์การบูชาพระบรมสารีริกธาตุว่า 1 เสวยสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 2 บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 3 ไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ 4 เสวยสมบัติในมนุษยโลก เช่นร่ำรวย ทรัพย์ สิน เงินทอง 5 ได้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ อภิญญา 6 และสุดท้ายข้อ 6 จะบรรลุพระนิพพาน มีเรื่องเล่าว่าอานิสงส์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุเกิดทันตา เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ฉลองสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นครราชคฤห์นั้น ไดัมีหญิงชราถือดอกบวบขม 4 ดอกจะไปบูชา แต่ระหว่างเดินทางไปด้วยจิตจดจ่อเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย นางไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพธิดามีรัศมีกายเปล่งปลั่ง ท้าวสักกะเห็นจึงหาข่าว ทราบว่า นางตั้งใจจะไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยดอกบวบขม 4 ดอก แต่ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย ด้วยความตั้งใจนั้นจึงมาเกิดในชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะว่า แค่ตั้งใจมีอานิสงส์ถึงปานนี้ ถ้าได้บูชาตามที่ตั้งใจ จะมีอานิสงส์ปานไหน ท้าวสักกะ จึงตรัสกับมาตลีเทพบุตรว่า แค่ตั้งใจบูชาด้วยดอกบัวขม ที่มีค่าน้อย ยังได้อานิสงส์มาก ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ จึงตรัสเชิญชวนบูชาพระเขี้ยวแก้วที่บรรจุ ณ จุฬามณี