Reporter&Thai Army

ยกระดับคุณภาพชีวิตเมืองชาละวัน……แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมเป็นเกียรติกับ FPT ได้ฤกษ์เปิดใช้ระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ …กระจายน้ำมันสู่ภาคเหนือ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ยกระดับคุณภาพชีวิตเมืองชาละวัน……แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมเป็นเกียรติกับ FPT ได้ฤกษ์เปิดใช้ระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ …กระจายน้ำมันสู่ภาคเหนือ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมพิธีเปิดระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ ระยะที่ 1 (บางปะอิน – กำแพงเพชร – พิจิตร ) โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ณ บริเวณคลังน้ำมันพิจิตร เลขที่ 99/8 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ในการนี้ นายสมศักดิ์ จันทรสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวต้อนรับ มี นายเจริญ จารุไสลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) กล่าวรายงานความเป็นมาและรายละเอียดโครงการฯ

 

จากนั้น ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธี พร้อมคณะแขกผู้มีเกียรติ ร่วมชมวิดีทัศน์โครงการฯ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวเปิดงาน พร้อมทำสัญลักษณ์ในการเปิดงาน และร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย โดยมี พลเอก วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , พลโท สุพจน์ บูรณจารี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก, นายสมศักดิ์ จันทรสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร , หม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BAFS), พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายลอยเลื่อน บุนนาค ประธานกรรมการ Steering , นายสมบุรณ์ หน่อแก้ว รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน , พลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36, นายธบดินทร์ เศรษฐสุวรรณ์ นายอำเภอวชิรบารมี , หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ ประชาชนในพื้นที่ ร่วมพิธีเปิด

 

โครงการก่อสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาลที่กลุ่มบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS Group เป็นผู้ลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมอบให้ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อมากว่า 28 ปี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันที่สามารถขนส่งน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินพื้นฐานออกเทน 91 และ 85 ในท่อเดียวกันแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่วนต่อขยายจากท่อขนส่งน้ำมันเดิมของ FPT จากคลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังคลังน้ำมันพิจิตร อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร (บางปะอิน – กำแพงเพชร – พิจิตร) ระยะทาง 367 กิโลเมตร และ ระยะที่ 2 จากสถานีเพิ่มแรงดันและแยกระบบท่อกำแพงเพชรไปยังคลังน้ำมันนครลำปาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง (กำแพงเพชร – ลำปาง) ระยะทาง 209 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 576 กิโลเมตร และมีควรมสามารถในการขนส่งน้ำมันได้ 9,000 ล้านลิตรต่อปี โดยโครงการระยะที่ 2 มีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2562

 

สำหรับระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยสามารถใช้ระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันปลายท่อเป็นสถานที่เก็บน้ำมันสำรองของประเทศ ประชาชนจะมีน้ำมันใช้ไม่ขาดแคลนในยามฉุกเฉินและภัยพิบัติ รวมทั้งยังให้ผลตอบแทนด้านสังคมสูงมาก ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ลดความเลื่อมล้ำของราคาน้ำมัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมีโอกาสใช้น้ำมันในราคาที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครฯ อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่งน้ำมันโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการขนส่งมันด้วยรถบรรทุกน้ำมัน

 

นอกจากนี้ ระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญ ซึ่งจะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยท่อขนส่งน้ำมันสามารถต่อขยายเพื่อขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังท่าอากาศยายนานาชาติแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งคลังน้ำมันของระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการจ่ายน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือแล้วนั้น ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ที่สามารถรองรับการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยคลังน้ำมันพิจิตรเป็นจุดจ่ายน้ำมันผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงประเทศเมียนมา – ไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม (มะละแหม่ง -เมียวดำ/แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร/สะหวันนะเขต – ดองฮา – ดานัง) และคลังน้ำมันนครลำปางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงประเทศ จีน – เมียนมา – สปป.ลาว – ไทย (คุณหมิง – เชียงรุ่ง – ต้าหลั่ว – เชียงตุง – ท่าขี้เหล็ก/แม่สาย)