Uncategorized

เกษตรกรตื่นตัว ขานรับนวัตกรรมปลูกอ้อยสมัยใหม่แบบเพาะข้อตา ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง

เกษตรกรตื่นตัว ขานรับนวัตกรรมปลูกอ้อยสมัยใหม่แบบเพาะข้อตา ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง

 

ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่หมู่ 13 ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านวรวรรณ ชิดอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เป็นประธานฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยพันธุ์หลัก และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ กว่า 250 คน ที่ต่างตื่นตัว ขานรับนวัตกรรมการปลูกอ้อยสมัยใหม่แบบเพาะข้อตา แทนการปลูกอ้อยแบบเดิม เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง โดยมีนายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ,นายดนัย ศรีสังข์ อุปนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ,พ.ต.อ.อาคม ช้างพลายแก้ว ผกก.สภ.ศรีเทพ ,ตัวแทนโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี พร้อมทั้งนำชมแปลงปลูกอ้อยสาธิต ซึ่งใช้เป็นแปลงพันธุ์อ้อยพันธุ์หลัก ก่อนนำมาผ่านกรรมวิธีเพาะข้อตา เพื่อแจกให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้นำไปปลูกขยายพันธุ์ในแปลงของตัวเอง ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ในปีแรก เราดำเนินการเพาะข้อตา และแจกจ่ายให้แก่ชาวไร่ไปแล้วกว่า 600,000 ต้นกล้า ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี และพี่น้องเกษตรกร เริ่มมีการตื่นตัวและขานรับนวัตกรรมการปลูกอ้อยสมัยใหม่มากขึ้น โดยในปีนี้ ทางสมาคมฯได้ทำการเพาะข้อตาไว้แล้วกว่า 1,000,000 ต้นกล้า และได้ทยอยแจกจ่ายให้แก่ชาวไร่ นำไปเพาะขยายพันธุ์แล้วกว่า 400,000 ต้นกล้า พร้อมทั้งยังเตรียมแจกจ่ายไปยังพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่มีความสนใจ หันมาใช้วิธีการปลูกอ้อยสมัยใหม่กันมากขึ้น
นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ชาวไร่ยังคงทำการปลูกอ้อยแบบเดิม คือใช้แรงงานคนหรือรถปลูก ด้วยวิธีตัดเป็นท่อน โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ต้องใช้พันธุ์อ้อยมากถึง 2 ตัน หรือประมาณ 24,000 ข้อตา แต่หากชาวไร่หันมาใช้วิธีปลูกอ้อยสมัยใหม่ แบบเพาะข้อตา คือ 1ตาต่อ1หลุม จะใช้พันธุ์อ้อยต่อไร่ เพียง 700 กิโลกรัม หรือ 1,700 ข้อตาเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้วนั้น ยังพบว่าผลผลิตต่อไร่ จากเดิมประมาณ 10-12 ตัน/ไร่ จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 17 ตัน/ไร่ ทำให้มีผลกำไรต่อไร่สูงยิ่งขึ้น

ด้าน นายดนัย ศรีสังข์ อุปนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ เพิ่มเติมว่า สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 เป็นเวลากว่า 20 ปี และได้จดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน มีนายกสมาคมแล้วจำนวน 3 คน

 

โดยสมาคมฯเริ่มต้นจากมีสมาชิกเพียง 604 คน ได้เติบโตและขยาย จนมีปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูกาลผลิต 2560/61 กว่า 5.7 ล้านตัน และมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 420,000 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ และนครสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกชาวไร่อ้อยทั้งสิ้น 5,457 คน

ราเมธ บงแก้ว/มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์