ข่าวรัฐสภา

กมธ. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนาให้ความรู้ แนวคิด ภารกิจ ความสำคัญของศาล รธน.

กมธ. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนาให้ความรู้ แนวคิด ภารกิจ ความสำคัญของศาล รธน. และองค์กรอิสระ โดยเชิญ “อดีต สสร. อดีตตุลาการศาล รธน. และประธานองค์กรอิสระ 5 องค์กร” ร่วมเวทีสัมมนา

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 8.00 นาฬิกา ณ ห้องวายุภักษ์ 5 – 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร” โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา กล่าวเปิดการสัมมนา

การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชนว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งเพื่อทราบความคาดหวังและความคิดเห็นของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

สำหรับการสัมมนาช่วงเช้าประกอบด้วยการอภิปราย ได้แก่ เรื่อง “แนวคิด เจตนารมณ์ และที่มา การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” โดย ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ได้อภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

จากนั้น เป็นการอภิปรายหัวข้อ “ภารกิจหน้าที่ และความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร” โดยอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีการอภิปรายประเด็นสำคัญ ๆ เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้แรงกดดันทางการเมืองที่มีความเห็นต่าง ความคืบหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งสำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อความรวดเร็วในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณโครงการคนละครึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในช่วงบ่ายเป็นการตอบประเด็นซักถามของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการสอบถาม เช่น ความต้องการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผลักดันการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินยังไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่ง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ตรวจการแผ่นดินและกรอบการแก้ไขปัญหา ความคืบหน้าการดำเนินการของ สตง. เกี่ยวกับผลกระทบและความเสี่ยงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต กระบวนการยุบพรรคการเมือง แนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง หน่วยงานที่ตรวจสอบการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญและความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นอกจากนั้น ยังมีการจัดบูธนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ บทบาท หน้าที่ และผลงานสำคัญ จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถยื่นหรือติดตามเรื่องร้องเรียนได้

สำหรับการชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการสัมมนาครั้งนี้ ทำให้ประชาชนได้รับทราบบทบาทหน้าที่ และความสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปสู่คำตอบว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าจะคงอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการสร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาของประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นำไปพัฒนาปรับปรุง และนำไปประกอบการพิจารณาหากในอนาคตมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน