ข่าวรัฐสภา

ตสร. ด้านสาธารณสุข วุฒิสภา ติดตามการจัดและการให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตสร. ด้านสาธารณสุข วุฒิสภา ติดตามการจัดและการให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชอัยยิกานุสรณ์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น 1) การจัดและให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ทั้งในส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และงบประมาณในส่วนของ สปสช. ตลอดจนปัญหาด้านบุคลากรในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล (Remote Area) ภายใต้การขับเคลื่อนของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565 2) การเตรียมความพร้อมด้านระบบข้อมูล สุขภาพ (Digital Health) และ 3) การขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ตลอดจนการประสานบูรณาการด้านงบประมาณ และด้านระบบข้อมูลเด็กปฐมวัย ปัญหาอุปสรรค และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านระบบสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งในด้านการจัดและให้บริการสาธารณสุขอยู่ในลำดับที่ดี กลับพบว่า มีปัญหาการฆ่าตัวตายสูง ประกอบกับการเป็นพื้นที่ที่มีความห่างไกลทุรกันดาร จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข และในทุกหน่วยงาน ซึ่งมีการลาออกและโยกย้ายสูง รวมทั้งประสบปัญหาด้านงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เป็นไปตามผลงานบริการด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งปัญหาภาระด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากกลุ่มประชากรแฝง ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวและบุคคลไร้สถานะ สำหรับการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัย มีการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการเด็กปฐมวัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีองค์ประกอบจากผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการขับเคลื่อนงานภายใต้แผนงานโครงการของแต่ละหน่วยงาน ส่วนการดำเนินงานด้าน Digital Health จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการจัดระบบการรักษาทางไกล แต่ประสบปัญหาด้านสัญญาณโทรศัพท์และการสื่อสาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล และระบบบโทรคมนาคมไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่

สำหรับการถ่ายโอนถารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนมี รพ.สต. จำนวน 72 แห่ง ถ่ายโอนฯ ไปแล้ว จำนวน 6 แห่ง ซึ่งการบริหารจัดการเป็นไปในลักษณะการประสานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และท้องถิ่น เพื่อให้การบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานเช่นเดิม และดีขึ้นกว่าเดิม

ในการนี้ คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเนอแนะสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาบุคลากรในพื้นที่ ไม่เฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุข ควรใช้แนวทางการจัดทำข้อเสนอแบบบูรณาการ ภายใต้ อกพ.จังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อมีข้อเสนอต่อ กพ. และ กพร. เกี่ยวกับนวัตกรรมการบริหารงานบุคคลรูปแบบพิเศษ เฉพาะพื้นที่แม่ฮ่องสอน โดยคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนในการหารือกับหน่วยงานดังกล่าว สำหรับปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุข ควรมีการจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบอัตรางบประมาณที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการจัดสรร กับจังหวัดอื่น ๆ ภายในเขตสุขภาพที่ 1 เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ และ สปสช. นอกจากนี้ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการประสานอย่างบูรณาการ และการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนอาจพิจารณาดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งมีตัวอย่างการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของ สอน. เฉลิมพระเกียรติฯ มาใช้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวได้

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน