ข่าวรัฐสภา

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล และการดำเนินงานสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล และการดำเนินงานสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของจังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 3 จังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายกานต์ กัลป์ตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี นายมวลชน กัลป์ตินันท์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
.
โดยคณะฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีได้ดำเนินการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 6 ด้าน คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2) การส่งเสริมคุณภาพชีวิต 3) การจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย 4) การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว 5) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6) การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งการจัดบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีได้รับคะแนนความพึงพอใจของประชาชนถึงร้อยละ 92.20 นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รางวัลประเภททั่วไปในด้านการบริหารงบประมาณพบปัญหาอุปสรรค คือ ได้รับงบประมาณไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับถ่ายโอน ทำให้ยากต่อการบริหารงานและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
.
ส่วนการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีมีการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเปิดให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ระยะที่ 2 การพัฒนาระบบการให้บริการด้วยดิจิทัล และระยะที่ 3 การให้บริการผ่านดิจิทัล
สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลในอนาคต ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ OSS (ONE STOP SERVICE) เป็นการให้บริการแบบบูรณาการส่วนราชการที่มีภารกิจให้บริการประชาชน การจัดทำระบบสารสนเทศ โดยการพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ Web Application หรือผ่านทางระบบดิจิทัล อาทิ การแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ การรับแจ้งและจ่ายงานด้วยระบบดิจิทัล (D 1669) เป็นต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี รับถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา

นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 54 แห่ง ใน 12 อำเภอ โดยพบปัญหาอุปสรรค ดังนี้ 1) ด้านบุคลากร ขาดแคลนบุคลากรตามขนาดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขนาดเล็ก S จำนวน 7 คน ขนาดกลาง M จำนวน 12 คน และขนาดใหญ่ L จำนวน 14 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีบุคลากรถ่ายโอน จำนวน 29 คน ที่ยังไม่ได้รับหนังสือส่งตัวจากกระทรวงสาธารณสุข 2) ด้านงบประมาณ ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามคู่มือแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ อบจ. 3) ด้านครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานียังไม่ส่งคืนกรมธนารักษ์ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการขอใช้ประโยชน์ได้ 4) ด้านการบริหารจัดการ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน เนื่องจาก รพ.สต. อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัด โดยคณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
.
จากนั้นในเวลา 16.30 นาฬิกา นายประพนธ์ โชควิวัฒนวนิช รองนายกอบจ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยนายเอกรัฐ อรรถบลยุคล เลขานุการนายก อบจ.อุบลราชธานี นำคณะกรรมาธิการลงพื้นที่เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี เดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 บนที่ดินของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา หลังจากสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แล้ว จึงได้มอบศาลากลางจังหวัดหลังนี้ ให้กรมศิลปากรทำการบูรณะเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และชาติพันธุ์วิทยา

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน