ข่าวรัฐสภา

ตสร. จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566”

ตสร. จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566” พร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารนำไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนฯ ในห้วงเวลาที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

.
วันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566” โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา บุคลากรในวงงานรัฐสภา ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมการสัมมนา
.
การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการ ตสร. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.270 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะกรรมาธิการได้พบจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริหาร เช่น ปัญหาอุปสรรคที่ฝ่ายบริหารพบจากการปฏิบัติหน้าที่ และข้อเสนอแนะของฝ่ายบริหารต่อ
แนวทางการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้การนำเข้าข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของหน่วยปฏิบัติมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพียงพอต่อการวิเคราะห์ประเมินผล

.
ซึ่งคณะกรรมาธิการ ฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อผู้แทนส่วนราชการ ดังนี้
1. หน่วยงานที่รับผิดชอบ จ.1 จ.2 และ จ.3 ควรจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อกำหนดกิจกรรมสำคัญที่เป็นจุดคานงัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและควรจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ
2. ควรจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้ครอบคลุมทุกยุทธศาสตร์ อีกทั้งควรปรับเปลี่ยนระบบพิจารณางบประมาณจากเดิม Line – Item Budgeting เป็น Strategic Performance Based Budgeting : SPBB
3. ควรสนับสนุนการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาให้กับกลไกในระดับพื้นที่/จังหวัด และควรปรับแก้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ให้ครอบคลุมการศึกษาทั้งระบบ
4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบาย ต้องมุ่งมั่นและกล้าหาญในการนำเสนอกำหนดทิศทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
5. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรสร้างการรับรู้เรื่องการใช้งานระบบ eMENSCR ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
.
และจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ส่วนราชการที่เข้าร่วมการสัมมนา ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้
1. ควรจัดสรรงบประมาณในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการให้สมดุล โดยควรเพิ่มงบประมาณในการอุดหนุนนักเรียนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา และลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรให้มากที่สุด
2. ควรเพิ่มการจัดสรรงบประมาณการวิจัยเชิงพื้นที่ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาประเทศต่อไป
3. ควรปรับลดโครงสร้างเพื่อลด Operating Cost เนื่องจากมีการสูญเสียงบประมาณในส่วนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
4. ควรปรับปรุงระบบ eMENSCR ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และสะดวกต่อการกรอกข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกรอกข้อมูลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
5. ในกรณีที่หน่วยงานจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบ eMENSCR สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรพัฒนาระบบให้สามารถแก้ไขได้ อันจะส่งผลต่อการวิเคราะห์และประเมินผล
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากการสัมมนาร่วมกับผู้แทนจากส่วนราชการ ไปดำเนินการภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน