ข่าวกระแสสังคม

มิสซิสยูนิเวิร์ส Mrs.Universe”เยี่ยมกลุ่มผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง วิจิตรงดงาม หนึ่งเดียวในไทย แห่งเมืองช้าง

วันนี้(2 สิงหาคม 2561) ณ กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นอีสาน ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย สมาชิก และ ประชาชน มาให้การต้อนรับ ดร.กันธิชา ฉิมศิริ หรือ ยุ้ย มิสซิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 (Mrs.Universe) ปัจจุบัน เพื่อเยี่ยมชม “กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง” ที่มาของ “ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง” ซึ่งเป็นสินค้าประจำจังหวัดชื่อดังของสุรินทร์ และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าชมกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” บ้านท่าสว่าง กลุ่มผลิตผ้าไหมยกทอง ที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าในระดับประเทศ

“กลุ่มทอผ้าไหมยกทอง”ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์ และเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้นมา ในหมู่บ้านจะมีอาคารเรือนไทยหลายหลังในอันร่มรื่น

ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสมของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มผ้าทอจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้าพื้นเมืองสุรินทร์ คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมอันวิจิตรงดงาม

สำหรับการทอผ้าไหมยกทองแต่ละผืนนั้น ต้องใช้ตะกอในการทอถึง 1,416 ตะกอ และใช้คนทอในครั้งเดียวกันถึง 4 คน อีกทั้งยังทอได้เพียงวันละ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น การมาชมการทอผ้าไหมยกทองที่นี่ จึงเป็นความเพลิดเพลินที่น่าตื่นตาตื่นใจมากๆ ปัจจุบันบ้านท่าสว่าง จึงเป็นทั้งแหล่งท่องเทียวและแหล่งซื้อผ้าไหมขึ้นชื่อของเมืองสุรินทร์ ที่นักเดินทางต้องไม่พลาดหาโอกาสมาชมด้วยตัวเองสักครั้ง

ข้อมูล/ภาพ
ดร.อานันท์ แสนน่าน
ทศพร ก้อนแก้ว รายงาน