ข่าวรัฐสภา

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการจัดบริการด้านสาธารณสุข และการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการจัดบริการด้านสาธารณสุข และการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

.
วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลขอนแก่น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีคณะผู้บริหารของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหารของโรงพยาบาลขอนแก่น และคณะผู้บริหารด้านสาธารณสุข ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 ให้การต้อนรับ
.
โดยคณะฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นแผนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านงบประมาณของจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนความคืบหน้าการดำเนินภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระบบบริการสุขภาพของหน่วยบริการและเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งระบบการส่งต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาไปสู่ Smart Hospital รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในด้านการจัดและให้บริการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ คือ มะเร็งตับท่อน้ำดี หลอดเลือดในสมอง เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และไตวายเรื้อรัง โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข 4Exellence และมีแผนการยกระดับสถานบริการ : SAP โดยจะดำเนินการในปี 2567 – 2570
.
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินภารกิจถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ.มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนการถ่ายโอนฯ ตั้งแต่ปี 2565 และมีการดำเนินการสำคัญ คือ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และมีการตั้งคณะกรรมการ กสพ. เพื่อกำกับติดตามการถ่ายโอนฯ มีระบบประสานงานหลังการถ่ายโอนฯ โดยมี อสม. ทำงานร่วมกันในชุมชน ส่วนประเด็นกำลังคนด้านสุขภาพ บุคลากรที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ขอนแก่น ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 1,818 ราย ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 31 ราย โดยมีบุคลากรที่ขอโอนกลับ สังกัด สสจ. ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 2 ราย ทั้งนี้ การปฏิบัติงานในปี 2566 ไม่แตกต่างจากการปฏิบัติงานก่อนที่จะมีการถ่ายโอนฯ โดยการจัดบริการร่วมกับแม่ข่าย ภายหลังการถ่ายโอนฯ รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. สามารถขึ้นทะเบียน PCU/NPCU จำนวน 173 แห่ง ระบบการส่งต่อยังคงเป็นการเชื่อมโยงรูปแบบเดิม การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน มีผลงานบางเรื่องที่ยังคงมีข้อกังวล เช่น ผลการดำเนินงานในการให้วัคซีนขั้นพื้นฐาน ในเด็กอายุ 0–5 ปี ปีงบประมาณ 2566 พบว่า ความครอบคลุมไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ยกเว้น BCG และการคัดกรองพัฒนาการและโภชนาการเด็กอายุ 0-5 ปี ปีงบประมาณ 2564–2566 พบว่า ต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับประเด็นสารสนเทศสุขภาพ มีการส่งข้อมูลตามที่ได้มีการทำข้อตกลงกันไว้ และระบบสารบัญอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมโยงกันได้ ระหว่าง สสจ. อบจ. และ รพ.สต. ส่วนกลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพ ปีงบประมาณ 2566 การจัดสรรงบประมาณจาก สปสช. ยังคงเป็นไปในลักษณะเดิม การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โรงพยาบาลแม่ขายเป็นผู้สนับสนุน โดยจัดสรรให้เท่ากับที่ผ่านมา และไม่ให้ขาดแคลน
.
ทั้งนี้ ผลกระทบจากการถ่ายโอน คือ เรื่องบุคลากร หลังจากถ่านโอนฯ มี รพ.สต. บางแห่งขาดพยาบาลวิชาชีพ และตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ รวมทั้งมีภาระงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งประสบปัญหาด้านขวัญและกำลังใจ ส่วนการเงิน ระเบียบต่าง ๆ ไม่เอื้อในการทำงานร่วมกับต่างสังกัด ในด้านภาวะผู้นำและธรรมภิบาล การประสานงานระหว่างหน่วยงานมีขั้นตอนมากขึ้นและยุ่งยาก จากกลไกการกำกับติดตามในพื้นที่ หลังถ่ายโอนฯ รพสต. บางแห่งไม่เข้าใจบทบาทภารกิจที่ต้องดำเนินการด้านสุขภาพ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ รวมถึงระบบข้อมูลขาดการติดตามการบันทึกข้อมูลของ รพ.สต.อย่างต่อเนื่อง โดย รพ.สต.ที่ถ่ายโอนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ KPI และไม่ต้องการการบันทึกข้อมูล ซึ่งจะบันทึกเฉพาะที่ได้รับงบเพิ่มเท่านั้น

.
ส่วนประเด็นข้อเสนอต่อส่วนกลางที่สำคัญ คือ กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล โดยควรทำข้อตกลงในการส่งข้อมูลสำคัญระดับประเทศกับหน่วยบริการที่ถ่ายโอน เพื่อให้สามารถติดตามได้ อีกทั้งควรมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อต่อการจัดบริการร่วมของหน่วยบริการต่างสังกัดทั้งคน เงิน ของ และข้อมูล รวมทั้งควรมีการจัดทำ MOU การกำกับติดตามการปฏิบัติงาน โดย อบจ. นำผลการประเมินตาม KPI กระทรวงสาธารณสุขไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลื่อนขั้นของบุคลากร รพ.สต. ถ่ายโอนฯ และควรเสนอให้มีข้อตกลงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดบริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้น โดยสรุป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนฯ คือ มีการทำ MOU มีการจัดทำทีมนำในการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระยะ 5 ปี (2566 – 2567) ใช้เป็นแผนแม่บทขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อใช้ร่วมกันในพื้นที่ ตลอดจนมีการจัดทำกลไกการขับเคลื่อน/ประสานงาน การเปิดศูนย์ปฏิบัติการถ่ายโอนฯ และในด้านบุคลากร ระยะแรก โรงพยาบาลแม่ข่ายให้การสนับสนุนบุคลากรปฏิบัติงานที่ รพ.สต. ที่ขาดบุคลากร พัฒนาศักยภาพบุคลากร สำหรับด้านข้อมูล มีการคืนข้อมูล HDC ให้กับ อบจ.ทุกเดือน และมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณศุข จำนวน 58 ฉบับ ตลอดจนสร้างพื้นที่นำร่อง ต้นแบบ อำเภอโนนศิลา ชนบท และหนองสองห้อง
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเห็นด้วยในหลักการถ่ายโอนฯ แต่ยังคงมีข้อห่วงใยในหลายประเด็น เนื่องจากการดำเนินการควรมีการเตรียมความพร้อม และมีนโยบายที่ชัดเจนทั้งในด้านการบริหารจัดการที่ครอบคลุมในทุกด้าน (คน เงิน ของ) เพื่อไม่ให้การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะการจัดและให้บริการประชาชน รวมถึงขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยการดำเนินการต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน