ข่าวรัฐสภา

คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147

คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา เป็นวันที่สาม

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และนายภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 147th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภา กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันที่สามได้ ดังนี้

1. การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ในเวลา 09.00 -13.00 และเวลา 14.30-18.30 นาฬิกา โดยที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของหัวหน้าคณะผู้แทนที่มิได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาหรือประธานรัฐสภา (non-presiding officers: List B) ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 5 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้คือ “Parliamentary action for peace, justice and strong institutions (SDG16)” ในการดังกล่าว นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามคณะผู้แทนรัฐสภาไทยต่อที่ประชุมสมัชชา โดยมีใจความสำคัญว่า รัฐสภาในฐานะองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลระดับชาติมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเสริมสร้างความโปร่งใส รับผิดชอบ และธรรมาภิบาลของภาครัฐในระบอบประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็งเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยรัฐสภาไทยได้มีบทบาทสำคัญผ่านอำนาจนิติบัญญัติในการวางกรอบกฎหมายเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ อาทิ การผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 รวมถึงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในปี 2559 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ตลอดจน การลดขั้นตอนด้านกฎระเบียบของภาครัฐด้วยการทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตทางราชการที่ซ้ำซ้อนและล้าหลัง ไปจนถึงการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับการให้บริการภาครัฐของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามมาตรฐานสากล
.
รัฐสภาไทยในฐานะสมาชิกของ GOPAC และ SEAPAC มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานด้านธรรมาภิบาลภาครัฐ โดยใช้อำนาจของรัฐสภาในการกำกับตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างเข้มข้น ผ่านกลไกคณะกรรมาธิการด้านการปราบปรามทุจริตและคอรัปชั่น รวมถึงคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณของทั้งสองสภา อีกทั้งยังส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาพึงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความสุจริต ความรับผิดชอบ ความโปร่งใสในกิจการภาครัฐเพื่อเชิดชูมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันจะนำมาซึ่งความไว้วางใจจากสาธารณชน ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมต่อต้านคอรัปชั่นในทุกรูปแบบเพื่อนำไปสู่การบริหารรัฐกิจที่ตั้งมั่นบนหลักการแห่งนิติธรรม มีความเป็นธรรม และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
.
2. จากนั้นในเวลา 11.00 นาฬิกา คณะผู้แทนรัฐสภาได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหาร IPU ในวาระที่สอง ซึ่งเป็นกำหนดการประชุมที่จัดขึ้นเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ที่ประชุมสามารถพิจารณาระเบียบวาระที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้ทันตามกรอบเวลา โดยที่ประชุมได้รับฟังความคืบหน้าในการจัดตั้งสำนักงานของสหภาพรัฐสภาในระดับภูมิภาค ซึ่งมีโครงการนำร่องที่อุรุกวัยและอียิปต์ สถานการณ์ล่าสุดของรัฐสภาในประเทศสมาชิกบางประเทศที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ การคืบหน้าของนโยบายใหม่ของ IPU อาทิ นโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศในระหว่างการประชุม IPU รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านจริยธรรมและการกำกับตรวจสอบของ IPU ขึ้นเป็นครั้งแรก (IPU Oversight and Ethics Committee) อีกทั้งรับฟังรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงาน IPU Task Force on peaceful resolution of the war in Ukraine และให้ความเห็นชอบต่อแผนกิจกรรมในปฏิทินการประชุมของสหภาพรัฐสภาในอนาคต ในห้วงปี 2567 – 2568
.
3. นอกจากนั้น คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ปฏิบัติภารกิจในการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุม Parity Debate หัวข้อ “I care to care: male parliamentarians engage in equal caring responsibilities” โดยนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมในช่วงที่ 2 “Policies and parliamentary initiatives on equal care: Presentation and sharing of good practices” นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของไทยเกี่ยวกับสิทธิของข้าราชการชาย ในการลาราชการเพื่อเลี้ยงดูบุตร 15 วัน ซึ่งถือเป็นการเสริมพลังให้แก่สตรีตามแนวทางของ CEDAW และในช่วงที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Advocating for equal care: Techniques, tips and action plans” ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่า ในการดำเนินการ แผนปฏิบัติควรจะต้องมีการสร้างความตระหนักในสังคมให้มีความเห็นอกเห็นใจระหว่างหญิงและชายเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้รัฐสภาควรบัญญัติกฎหมายที่เอื้ออำนวย สนับสนุนและให้คุณค่าความสำคัญแก่การดูแลงานบ้านหรือดูแลคนในบ้านซึ่งมีคุณูปการสำคัญทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย
.
4. ด้านนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ พร้อมด้วยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช และนายภัณฑิล น่วมเจิม ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (IPU Standing Committee on UN Affairs) ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและอภิปรายในหัวข้อ “The UN field presence in support of national development: The case of Angola” และ “Bringing gender equality to the UN General Assembly”
.
5. ต่อมาในช่วงบ่าย ผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ พร้อมด้วยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช และนายภัณฑิล น่วมเจิม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (IPU Standing Committee on Sustainable Development) โดยที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเตรียมการสำหรับการจัดทำร่างข้อมติฉบับต่อไปของคณะฯ ในหัวข้อ “Partnerships for climate action: Promoting access to affordable green energy, and ensuring innovation, responsibility and equity” ในการนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้ร่วมกล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุการส่งเสริมพลังงานสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประเทศไทยที่มีโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy) เป็นแนวทางหลักของประเทศในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมยังได้รับทราบการเตรียมการจัดการประชุมภาครัฐสภา ในโอกาสการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
6. ด้านนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุม The 2nd Global Parliamentary Summit on Counter-terrorism and Violent Extremism: The Global Response to the Call of Sahel ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลสรุปของกิจกรรมของ IPU ในการเชิญชวนให้ประชาคมระหว่างประเทศหันมาสนใจปัญหาของอนุภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ประสบกับปัญหาที่มีความซับซ้อนในหลากหลายมิติ อาทิ ความยากจนอย่างรุนแรง การรัฐประหาร ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นำไปสู่วิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น จนนำไปสู่การเติบโตขยายตัวของขบวนการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง โดยสหภาพรัฐสภาได้นำเสนอผลสรุปของการประชุมเฉพาะด้าน (thematic meetings) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่นำเสนอข้อเสนอแนะใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชุมชน ด้านความมั่นคง ด้านพัฒนาและด้านการศึกษา ที่จะสามารถพัฒนาเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมให้แก่อนุภูมิภาคซาเฮลได้อย่างยั่งยืน

.
7. นอกจากนี้ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมระหว่างสหภาพรัฐสภาและสมาคมเลขาธิการรัฐสภา หัวข้อ Digital Transformation of Parliaments โดยได้ร่วมนำเสนอโครงการความริเริ่ม Smart and Open Parliement ของรัฐสภาไทยที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยให้รัฐสภาเป็นสถาบันที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการด้านนิติบัญญัติ และยกระดับการสื่อสารกับสาธารณชน เช่น การติดตามสถานะของร่างกฎหมาย การรับฟังความคิดของประชาชนเห็นต่อร่างกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายออนไลน์ ตลอดจนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยรวมไปถึงการส่งสริมการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย อาทิ กลุ่มเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
.
8. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้พบหารือกับ Mr. Jonathan Lang เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ Youth Programme ของสหภาพรัฐสภา โดยได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่าง IPU กับรัฐสภาไทยในด้านการเสริมพลัง และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ยุวสมาชิกรัฐสภาของไทยซึ่งได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากถึง 210 คน คิดเป็นร้อยละ 42 และมีสมาชิกฯ หน้าใหม่ที่เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งแรกเป็นจำนวนมาก โดย IPU มีความพร้อมจะให้การสนับสนุนรัฐสภาไทยผ่านโครงการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ ที่เน้นเรื่องการพัฒนาความเป็นผู้นำ การเป็นพี่เลี้ยง และการสื่อสาร ซึ่งจะสอดรับกับชมรมยุวสมาชิก Young Paliamentarians ของรัฐสภาไทยซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำงานได้ในอนาคตอันใกล้ และจะเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับ IPU ในเรื่องนี้ต่อไป
.
9. อนึ่ง ในระหว่างการประชุมสมัชชาฯ วันที่สาม ผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยและ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้สนทนาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ Ms. Caterine Gotani Hara ประธานรัฐสภามาลาวี ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานรัฐสภา ลำดับที่ 31 โดยฝ่ายไทยได้รับฟังนโยบายต่างๆ ของผู้สมัครจากมาลาวี พร้อมทั้งอวยพรให้ประธานรัฐสภามาลาวีประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ให้สัมภาษณ์แก่ สำนักข่าว Televisao Publica de Angola : TPA (หรือสำนักข่าวแห่งรัฐของแองโกลา) เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของหัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ที่จัดขึ้น ณ แองโกลา รวมถึงบทบาทของประชาคมรัฐสภาในการร่วมกันแก้ไขปัญหาของโลกในปัจจุบัน

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน