ข่าวรัฐสภา

หมอเจตน์นำคณะลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ

หมอเจตน์นำคณะลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ รพ.สต. ห้องข่า อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อติดตามสถานการณ์การจัดและการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. โดยมี นางพรพิไล วรรณสัมผัส สาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร นายสุนทร วิริยะพันธ์ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร นายแววประกาย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้องข่า และบุคลากรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

รพ.สต. ห้องข่า เป็น รพ.สต. ที่ไม่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. รับผิดชอบประชากร 15 หมู่บ้าน 2,301 หลังคาเรือน มีบุคลากร จำนวน 13 คน ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุข 4 คน พยาบาลวิชาชีพ 3 คน ทันตสาธารณสุข 1 คน แพทย์แผนไทย 1 คน พนักงานธุรการ 1 คน พนักงานการเงินและบัญชี 1 คน และพนักงานบริการ 2 คน โดยให้บริการคลินิกโรคเรื้อรัง ทันตกรรม แพทย์แผนไทย และยาเสพติด เปิดให้บริการทุกวัน ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนมารับบริการเฉลี่ยวันละ 40 คน นอกจากนั้น ได้นำระบบแพทย์ทางไกลมาใช้ในการให้บริการ รพ.สต. ห้องข่า ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โรงพยาบาลแม่ข่าย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของ รพ.สต. ห้องข่า อาทิ 1) เนื่องจากพื้นที่ของ รพ.สต. ห้องข่า เป็นชุมชนกึ่งเมือง ทำให้มีประชาชนมารับบริการจำนวนมาก ส่งผลต่อภาระงานของเจ้าหน้าที่
2) บุคลากรมีการโยกย้ายบ่อยครั้ง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อลดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน 3) งบประมาณดำเนินงานจาก CUP โอนสู่ รพ.สต. ล่าช้า ส่งผลต่อการดำเนินงานและการพัฒนาด้านต่าง ๆ 4) ระบบ Telemedicine อยู่ในช่วงการทดสอบระบบ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากร 5) การจัดสรรงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคลดลงทุกปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง รพ.สต. ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานเป็นบริการเชิงรุก เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย และเร่งรัดการโอนงบประมาณจาก CUP โอนสู่ รพ.สต. และทีมสุขภาพร่วมกันพัฒนาระบบ Telemedicine ให้มีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อลดภาระงานให้กับบุคลากรในพื้นที่

หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของบุคลากรใน รพ.สต. ห้องข่า ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการกรอกข้อมูลตามตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เนื่องจากบุคลากรต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว เป็นเหตุให้การบริการประชาชนลดลง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้ชื่นชมการทำงานของบุคลากรที่ทุ่มเทและเสียสละ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน