ข่าวรัฐสภา

กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับ โครงการการพัฒนาเครือข่ายและกลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพฯ

กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับ โครงการการพัฒนาเครือข่ายและกลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพฯ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดเสวนา เรื่อง “การบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมสูงวัย”

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 426 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับ โครงการการพัฒนาเครือข่ายและกลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพฯ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดเสวนา เรื่อง “การบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมสูงวัย” โดยมี นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย กล่าวเปิดการเสวนา พร้อมด้วย คณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วม
.
ในประเทศไทยยังคงมีบุคคลไร้สัญชาติไทย จำนวน 991,425 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 100,000 คน แต่พบว่า สถิติการให้สัญชาติบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้สัญชาติได้จำนวน 7,016 คน จาก 483,383 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 1.45 เท่านั้น สาเหตุที่การดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติล่าช้า เนื่องมาจากข้อจำกัดต่างๆ ได้แก่ 1. ทัศนคติและมายาคติของสังคมที่มีต่อคนไร้สัญชาติไทยในเชิงลบ 2. อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนระดับอำเภอไม่เพียงพอหรือไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง 3. ในระดับจังหวัดไม่มีสำนักทะเบียนแต่เป็นส่วนงานในฝ่ายปกครองจังหวัด 4. ระดับกรมการปกครอง มีอัตราบุคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 5. การมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอนและกรอบเวลาในกระบวนการให้สถานะที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องอาศัยเวลานาน และ 6. ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลขาดเอกสารในการพิสูจน์ตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย หรือมีเอกสารแต่บกพร่องที่จะใช้ในการพิสูจน์สัญชาติ หรือกลุ่มที่ผิดหลงในการไปขึ้นทะเบียนผิดกลุ่มจากความไม่รู้สถานะตนเอง หรือแม้บุคคลนั้นอ้างว่า ตนมีข้อเท็จจริงที่ทำให้ได้สัญชาติไทยแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเองปฏิเสธที่จะเชื่อในข้อเท็จจริงที่บุคคลกล่าวอ้าง เป็นต้น คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

โดยคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย และโครงการพัฒนาเครือข่ายและกลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพฯ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะการยอมรับในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิประการแรกที่จะทำให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติมีความสามารถที่จะเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้ สามารถดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อคนในรัฐมีคุณภาพ ก็เป็นผลดีต่อรัฐทำให้รัฐเจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคง และสามารถสร้างความมั่นคงเชิงประชากรได้ ทำให้สามารถจัดการประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การจัดสรรงบประมาณ การจัดการทรัพยากร รวมถึงรัฐสวัสดิการ และสาธารณูปโภคภายในรัฐสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การเสวนาครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อสรุปสถานการณ์ปัญหาด้านการบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย อีกทั้งยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค โอกาสและความท้าทาย รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเข้าถึงการมีสถานะบุคคล และพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายในการบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมสูงวัย
.
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้ มีการนำเสนอประเด็นการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการปกครองด้านสัญชาติและสถานะบุคคล พร้อมทั้งสถานการณ์และการบริหารจัดการเกี่ยวกับราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย โดย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย การนำเสนอประเด็นความสำคัญของ “การบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย” โดย นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย การนำเสนอ เรื่อง ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดย นายสุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม นายอำเภอเวียงแหง และนายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ การนำเสนอ เรื่อง “บทบาท สสส.ต่อการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” โดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. พร้อมทั้งได้มีการเปิดเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกฎหมายประจำบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ และผู้แทนภาคประชาสังคมต่าง ๆ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน