ทุกข์ร้อนชาวบ้าน ภัยพิบัติ

“ไชยา” ลั่นชะลอพร่องน้ำ กู้วิกฤติเขื่อนล้น เร่งรับมือน้ำท่วม

“ไชยา” ลั่นชะลอพร่องน้ำ กู้วิกฤติเขื่อนล้น เร่งรับมือน้ำท่วม

“พญานาค 2” ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งชะลอพร่องน้ำเขื่อนลำปาว กู้วิกฤติสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์ กำชับทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือ ขณะที่ยอดความเสียหาย พื้นที่นา ไร่ บ่อปลา ทางการเกษตรเสียหายนับแสนไร่ พร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรี ต่อแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานอย่างเป็นระบบในอนาคต

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 พรรคเพื่อไทย นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย น.ส.นนทิชา วรรณสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 12 พร้อมคณะทำงานรัฐมนตรีฯ เข้ารับฟังการรายงานปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว และสถานการณ์น้ำท่วม จากนายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และ นางอัศนีย์ญ บุษบาแย้ม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุรพล สวนกัน ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์

สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดจากฝนที่ตกอย่างหนัก ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้ปริมาณน้ำสะสมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว ที่ยังได้รับอิทธิพลจากน้ำป่าไหลเข้าอ่างด้าน อำเภอศรีธาตุ จ.อุดรธานี และน้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ส่งผลให้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำเพิ่มอย่างรวดเร็วจนเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์โดยปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากกว่าถึง 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุระดับกักเก็บที่ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 27% เฉพาะในเดือนกันยายน มีมากถึง 1,063 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.66 – วันที่ 17 ส.ค.66 มีการพร่องน้ำเรื่อยมา เพื่อรองรับน้ำใหม่ และเริ่มระบายน้ำบริเวณอาคารผันน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.66 ซึ่งเริ่มจากวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นไปถึงวันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และไต่ระดับแบบขั้นบันได ระบายในช่วงปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยวันละ 15-25 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายสูงสุดที่วันละ 29 ล้านลูกบาศก์เมตรจำนวน 4 วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน และรองรับน้ำที่จะไหลเข้ามาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งมากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันล่าสุดเขื่อนลำปาวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,005 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 101% ของความจุ ระดับน้ำหน้าอ่างลดลงจากที่สูงสุดแล้ว 21 ซม. จาก 164.29 ม.รทก.ลงมาอยู่ที่ 164.08 ม.รทก. แต่ยังสูงกว่าระดับเก็บกักอยู่ 8 ซม. ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการปรับลดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ลดเป็น 25 ล้านลูกบาศก์เมตร, วันที่ 6 ต.ค.ลดเป็น 22 ล้านลูกบาศก์เมตร และล่าสุดวันนี้ 8 ต.ค. ลดเป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันได้รับผลกระทบจำนวน 10 อำเภอ แยกออกเป็น 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์น้ำท่วมด้านเหนือเขื่อน จากระดับน้ำของเขื่อนลำปาวที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเป็นเอกสารสิทธิ์สัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสามชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 24 ตำบล 134 หมู่บ้าน 3,710 ครัวเรือน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 564 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 29,445 ไร่ ด้านประมง 95 ไร่ และถนน 183 สาย ในส่วนสถานการณ์น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน จากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ได้รับผลกระทบจำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด และอำเภอกมลาไสย รวม 31 ตำบล 228 หมู่บ้าน 6,120 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 738 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 55,224 ไร่ ด้านประมง 374 ไร่ และถนน 64 สาย

ทั้งนี้ภายหลังจากรับฟังรายงานสถานการณ์ที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังอาคารผันน้ำเขื่อนลำปาว พร้อมกับได้กดปุ่มลดบานประตูชะลอการระบายน้ำลงในพื้นที่ราบลุ่ม เพื่อลดความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ กับเตรียมการให้ส่วนราชการ และประชาชน ประกาศเตือนภัยเพื่อรับมือกับมวลน้ำในลำน้ำชีที่จะไหลเข้ามาสมทบในพื้นที่กาฬสินธุ์

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงเนื่องจาก เขื่อนลำปาว ยังจำเป็นที่จะต้องทำการระบายน้ำ เนื่องจากอิทธิพลน้ำป่าที่ไหลเข้ามา จาก จ.อุดรธนี และ แนวเขตเทือกเขาภูพาน ได้เติมเข้าอ่างอย่างต่อเนื่องเฉพาะวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้เกินปริมาณกักเก็บ ซึ่งแนวทางซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มาตรวจเยี่ยม จะมีการนำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนทางน้ำ ให้มีการผันน้ำลงแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการทำอุโมงค์หรือการสร้างระบบชลประทาน ให้ครบวงจร ที่จำเป็นจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบความเสียหายในแต่ละปี เชื่อว่าจะเป็นแผนที่ดีในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานทั้งนี้ภายหลังน้ำลด การช่วยเหลือ จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ โดยการนำของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกกระทรวงฯ โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการเยี่ยวยาพี่น้องประชาชน ให้ดำรงชีวิตได้ และในขณะนี้ได้ทำการสำรวจในเรื่องความเสียหายเอาไว้แล้ว

จากนั้นนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านท่าเรือ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด และ บ้านท่าสิน และบ้านสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ รวมจำนวน 700 ครัวเรือน โดยมี นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 และนายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคเพื่อไทย ส่วนราชการร่วมให้กำลังใจพี่น้องประชาชน โดยพบว่าหลายครอบครัวเริ่มป่วยเป็นโรคผิวหนังและซึมเศร้า ซึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้จัดทีมแพทย์เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็จัดเตรียมเรือและการอพยพประชาชนหากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก