ข่าวรัฐสภา

กมธ.การอุดมศึกษาฯ จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญาและพิธีรับเกียรติบัตร STAR STEMS “STAR STEMS TALENT AWARD (Final) & SMART TRAINER (Season 1)”

กมธ.การอุดมศึกษาฯ จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญาและพิธีรับเกียรติบัตร STAR STEMS “STAR STEMS TALENT AWARD (Final) & SMART TRAINER (Season 1)”

วันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 09.40 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402 – 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญา และพิธีรับเกียรติบัตร STAR STEMS “STAR STEMS TALENT AWARD (Final) & SMART TRAINER (Season 1)” โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวเปิดกิจกรรม พลเอก พหล สง่าเนตร ประธานคณะทำงานนวัตกรรมทางปัญญา สร้างสังคม รู้ รัก สามัคคี มีสันติสุขยั่งยืน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ คณะทำงาน และผู้เข้าร่วมประกวดจากสถาบันการศึกษา เข้าร่วมงาน
.
พลเอก พหล สง่าเนตร ประธานคณะทำงานนวัตกรรมทางปัญญา สร้างสังคม รู้ รัก สามัคคี มีสันติสุขยั่งยืน กล่าวรายงานว่า ตามที่คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา ได้ดำเนินการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาและสร้างบุคลากรต้นแบบ” การอบรมหลักสูตร STAR STEMS : SMART TRAINER โดย มูลนิธิอาชีวเวชศาสตร์ไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญา “STAR STEMS TALENT AWARD” (จำนวน 22 ทีม 17 สถาบันการศึกษา) เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 คณะทำงานนวัตกรรมทางปัญญา สร้างสังคม รู้ รัก สามัคคี มีสันติสุข ยั่งยืน มีแนวคิดในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่มีความหลากหลาย ภายใต้กรอบแนวคิด “STAR STEMS” ซึ่งเป็นการจัด
การเรียนรู้แบบแก้ปัญหาด้วยสถานการณ์จริง (Situation-Based Learning: SBL)โดยมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ (STAR) และบูรณาการกับหลักคิด 5 ประการ (STEMS) ประกอบด้วย 1) หลักเหตุและผล (S – Scientific Thinking) 2) หลักภูมิปัญญาไทย ศาสตร์พระราชา (T – Thai Technology) 3) หลักประสิทธิภาพ ระบบงาน และการสื่อสารสากล (E – English Engineering) 4) หลักตรรกะและคุณธรรม (M – Moral Mathematics) และ 5) หลักความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับภูมิสังคม (S – Socio Geology) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างบุคลากรหรือเยาวชนต้นแบบให้มีวินัย รู้ รัก สามัคคี และภูมิใจในชาติ เพื่อสร้างสังคมสันติสุข

.
ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ที่ผ่านการเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสร้างบุคลากรและเยาวชนต้นแบบ เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางปัญญา สร้างสั่งคม รู้ รัก สามัคคี มีสันติสุขยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 – 22 กันยายน 2566 และวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 ได้เข้าร่วมการประกวดนำเสนอและมีการคัดเลือกโครงการให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ STAR STEMS สามารถนำไปขยายผลในโครงการในเชิงรูปธรรมที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดความรู้ รัก สามัคคีมีสันติสุขยั่งยืนในสังคมต่อไป
2. เพื่อมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ “STAR STEMS” และมอบรางวัลแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกโครงการหรือผลงาน ในกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญา
.
สำหรับกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมทางปัญญา “STAR STEMS TALENT AWARD” โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบตัดสินได้มีการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการฯ ทีมละไม่เกิน 10 นาที จากนั้นได้ประกาศผลการตัดสินการประกวด โดยมีทีมที่ได้รับรางวัลและเกียรติบัตร ดังนี้ 1. ด้านการศึกษา ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และรางวัลชมเชย 10,000 บาท ได้แก่ 1. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 2. ด้านการบริหารจัดการองค์กร ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์
รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และรางวัลชมเชย 10,000 บาท
ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ และ 3. ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยปทุมธานี รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และรางวัลชมเชย 10,000 บาท ได้แก่ 1. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรฯ และ 2. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
.
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รับการพัฒนาทักษะของการคิดด้วย “STAR STEMS” ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาประจำวัน ปัญหาการงานอาชีพ และปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันเป็นการพัฒนาตนไปสู่ความสำเร็จและเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมไทยต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน