ข่าวรัฐสภา

อาคารรัฐสภา 2 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้การรับรองนายปิแอร์ อันโตนิโอ แพนเซอรี (Mr. Pier Antonio Panzeri)

วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้การรับรองนายปิแอร์ อันโตนิโอ แพนเซอรี (Mr. Pier Antonio Panzeri) ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภายุโรป พร้อมคณะสมาชิกสภายุโรป ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือทวิภาคีโดยมี คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เลขานุการคณะกรรมาธิการ รวมทั้ง คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการ และนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมให้การรับรองโอกาสนี้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวขอบคุณสหภาพยุโรปที่เข้าใจการพัฒนาทางการเมืองของไทย และพร้อมจะยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกระดับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านนิติบัญญัติระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภายุโรป ซึ่งหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นด้านนิติบัญญัติร่วมกันมากยิ่งขึ้น ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทยและสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์อันดีในทางการค้าโดยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทยรองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้ารวม 44,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าร่วมกัน พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. และประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วจะให้ประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุนจากสหภาพยุโรปที่จะมาลงทุนในไทยเนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทั้งในด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานและด้านความร่วมมืออาเซียน-สหภาพยุโรปประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังได้ชี้แจงด้วยว่า นับตั้งแต่ สนช. เข้ารับตำแหน่งได้มีการประกาศใช้กฎหมายแล้วจำนวน 283 ฉบับซึ่งทำให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนได้และสอดคล้องกับพันธกรณีและมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อลดช่องว่างทางสังคมของไทยและก่อนการพิจารณากฎหมายทุกฉบับ สนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ ตามมาตรา 77 วรรคสอง เพื่อพัฒนากฎหมายต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยด้านประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีความเป็นห่วงในเรื่องแรงงานและการค้ามนุษย์ในไทย และอนาคตสหภาพยุโรปต้องการที่จะเปิดตลาดทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเดินทางเยือนสภานิติบัญญัติแห่งชาติในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและไทยให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไปภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน