Reporter&Thai Army

รองแม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมโครงการ “ ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น ” และเวทีเสวนาวิชาการ “ ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรมและภูมิสังคม ”

รองแม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมโครงการ “ ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น ” และเวทีเสวนาวิชาการ “ ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรมและภูมิสังคม ”

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2562 พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมโครงการ “ ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น ” และการเสวนาวิชาการ “ ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรมและภูมิสังคม ” โดยมี ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ,รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตฝุ่นควัน ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด ล้วนเป็นที่ทราบกันดีว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเอง รวมถึงสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นแอ่งที่ราบและรายล้อมด้วยหุบเขา ส่งผลให้เกิดสภาวะแบบนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งทางจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรณรงค์ป้องกัน ดำเนินการ และแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่มาโดยตลอด จึงทำให้เราตระหนักว่า ปัญหาดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนทำงานแบบเชิงยุทธศาสตร์ ต้องมีความชัดเจนและรวดเร็วในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน ต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา โดยเห็นได้จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก และส่งผลต่อภาคอื่น ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ สุขภาวะของคนในพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายมหาศาลอย่างที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่เราต้องคิดและวางแผนรับมือให้ได้อย่างยั่งยืน

กิจกรรมนี้จะทำให้เกิดการตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่นควันพิษในทุกมิติ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวต่อไป เร่งคืนอากาศปลอดมลพิษให้จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือให้มีความสวยงามน่าอยู่ สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนดินแดนล้านนาแห่งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันพิษในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นอุปสรรคในการคมนาคมและขนส่ง รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ความรุนแรงของปัญหา โดยทั่วไปปรากฎชัดเจนในช่วงฤดูแล้งของทุกปี สภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน และเนื่องจากความแห้งแล้งที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไฟป่า ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน รวมถึงปัจจัยจากภายนอกในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันพิษเข้าสู่ระดับวิกฤต และเนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 นั้น องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556

ทั้งนี้ ผลสำรวจโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ในหัวข้อ ปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ : การรับรู้ ความรุนแรง และการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน พบว่า ชาวเชียงใหม่ร้อยละ 97.67 ทราบถึงสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน และได้รับผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและอาการทางสายตา พร้อมกับเห็นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้การป้องกันและควบคุมไฟป่า รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาเพื่อทำการเกษตร และการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และนับเป็นพื้นที่ประสบภัยโดยตรง ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องการเผาป่าเพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับจำนวนจุดฮอทสปอตในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี

โดยทีมนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการ “แม่แจ่มโมเดล” ส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานทดแทนพืชเชิงเดี่ยว โดยใช้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่บนฐานข้อมูลที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ซึ่งสามารถลดสถิติการเผาลงได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา และได้พัฒนาสู่ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” เผยแพร่องค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ จัดการเชื้อเพลิงจากวัสดุการเกษตรทำเป็นอาหารโคกระบือ และปุ๋ยชีวภาพ ส่งเสริมการไถกลบซอตังในพื้นที่ราบ การทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง อัดฟ่อนจำหน่าย ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้นำรูปแบบดังกล่าวขยายผลสู่พื้นที่อำเภอต่าง ๆ ด้วย

จะเห็นได้ว่า ปัญหาหมอกควันมีความซับซ้อนในหลายมิติ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือและแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ร่วมกัน โครงการ “ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น” และการเสวนาวิชาการเรื่อง “ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรมและภูมิสังคม” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และมุ่งนำข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

กิจกรรมในวันนี้ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาทุกแห่ง กองทัพภาคที่ 3 หน่วยงานทุกภาคส่วน คณาจารย์ นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาครวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น ” กว่า 400 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีนิทรรศการนำเสนอผลงานนวัตกรรม โดย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ สาธิตวิธีการจัดทำเครื่องกรองอากาศลด PM 2.5 ต้นทุนต่ำสำหรับโรงเรียนและชุมชน

ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพ เขตปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายประเทศ จนถึงล่าสุดที่ตัวเลขสถิติระบุว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่เกินค่ามาตรฐานเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันหลายวัน จึงนับเป็นวาระแห่งชาติที่เราต้องเร่งแก้ไขร่วมกันโดยด่วน ซึ่งจะพบได้ว่า มีสาเหตุหลายประการอันเป็นปัจจัยองค์ประกอบรวมทั้งภายนอกและภายใน แต่สาเหตุสำคัญส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ และควรแก้ไขที่สาเหตุเป็นหลัก ได้แก่ 1. การเผาป่า 2. การเผาในที่โล่งเพื่อการเกษตร 3.พฤติกรรมในเมืองและการสร้างมลภาวะ เช่น การกำจัดขยะ โรงงาน ควันเสียจากพาหนะ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาที่เราเห็นพ้องกันว่าเป็นวิกฤตการฝุ่นควันพิษในครั้งนี้ ควรทำให้เกิดประสิทธิภาพโดยมองอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ วางไทม์ไลน์และแผนการดำเนินงานให้ชัดเจนเพื่อกระจายการทำงาน กำหนดการดำเนินการแบบเชิงรุกในระยะสั้นเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด และการทำงานเชิงระบบในระยะยาวเป็นแผนงานของทุกปี โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้สนับสนุนให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน รวมถึงเน้นให้เกิดการสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนระดับชุมชนต้องเร่งกำชับมาตรการข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ต้องช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้ระดับชุมชนแก้ไขปัญหากันเองเท่านั้น โดยเฉพาะการป้องกันและดับไฟป่าซึ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่กำลังคนที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวย พร้อมกับเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โครงการ “ทปอ.ร่วมใจต้านภัยฝุ่น” และการเสวนาวิชาการ เรื่อง“ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรมและภูมิสังคม” ในวันนี้ ถือเป็นบทบาทที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นผู้นำสังคมที่ต้องเร่งสร้างการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นที่ทำให้เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไปเชื่อมั่นว่าพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ รวมถึงการเตรียมแผนรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาวต่อไป