Reporter&Thai Army ข่าว เชียงราย ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวปราบยาเสพติด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

นบ.ยส.35 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขับเคลื่อนแผนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ชายแดนภาคเหนือ

นบ.ยส.35 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขับเคลื่อนแผนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ชายแดนภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พลโทนฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ชายแดนภาคเหนือ พ.ศ. 2567 โดยมี พล.ต.สมจริง กอรี รอง ผอ.ศอ.ปส.ชน. นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ปปส. ภาค 5. รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สำนักงาน ปปส. ภาค 5 ศุลกากร และอุตสาหกรรม

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคม ลดความเดือนร้อนให้ประชาชน โดยประกาศให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ภายใน 1 ปี จึงได้มีการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดเข้าประเทศ ทางชายแดนภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยในภาคเหนือจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 โดยบูรณาการกำลังในพื้นที่ เสริมความเข้มแข็งตามแนวชายแดน

นบ.ยส.35 จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 11 – 12 มกราคม 2567 เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในวัตถุประสงค์ ของการขับเคลื่อนงานตามแผนฯ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และร่วมกันเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ให้แผนปฏิบัติการนี้ บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มุ่งสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย.

ทรงวุฒิ ทับทอง