ข่าว ร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ GISTDA จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกษตรกรยุคใหม่บริหารจัดการและสร้างคุณค่าให้กับข้าวหอมมะลิ ด้วยนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน พื้นที่ทุ่งกุลา G-Rice Thungkula

จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ GISTDA จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกษตรกรยุคใหม่บริหารจัดการและสร้างคุณค่าให้กับข้าวหอมมะลิ ด้วยนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน พื้นที่ทุ่งกุลา G-Rice Thungkula
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการเกษตรกรยุคใหม่บริหารจัดการและสร้างคุณค่าให้กับข้าวหอมมะลิ ด้วยนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน พื้นที่ทุ่งกุลา G-Rice Thungkula ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

นายธนากร สงวนตระกูล นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการเกษตรกรยุคใหม่บริหารจัดการและสร้างคุณค่าให้กับข้าวหอมมะลิ ด้วยนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน พื้นที่ทุ่งกุลา G-Rice Thungkula เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” หรือเรียกย่อๆ ว่า วทน. ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร และจังหวัดมหาสารคาม ที่ GISTDA

และจังหวัดร้อยเอ็ดจัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กลุ่มนาแปลงใหญ่ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ทุ่งกุลาจังหวัดร้อยเอ็ด ให้มีองค์ความรู้ และความเข้าใจ สามารถนำนวัตกรรมระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการใช้งานนวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวทุ่งกุลา ที่ GISTDA พัฒนาขึ้น ทั้งเว็บและโมบายแอพ เพื่อให้เกิดทักษะและประโยชน์ สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2562 /63 ที่จะมาถึง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กลุ่มนาแปลงใหญ่ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้วางแผน ติดตาม จัดการ และส่งเสริมการเพาะปลูก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่ต้องการเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรแบบสมัยใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนแปลงเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นผู้ประกอบการทางเกษตร และเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตมั่นคง ประชาชน เกษตรกร มีรายได้ที่มั่นคง และอยู่ดี กินดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ/ข้าวอินทรีย์ในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

////////////////////////////\\
ศรีไพร ทูลธรรม —รายงาน