Uncategorized

จันทบุรี-เกษตรกรชาวประมง และชาวบ้านแห่จับปูแป้น หรือปูใบไม้

จันทบุรี-เกษตรกรชาวประมง และชาวบ้านแห่จับปูแป้น หรือปูใบไม้

ที่ออกมาลอยคอตามธรรมชาติ เป็นจำนวนมากบางรายหาเป็นรายได้เสริมกว่าคืนละ 1,000 บาท
ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลที่ปูแป้น หรือปูใบไม้จะออกมาลอยคอตามธรรมชาติเพื่อผสมพันธุ์ วางไข่ ในลำคอลที่เชื่อมต่อทะเลอ่าวไทยจำนวนมาก โอกาสนี้ ชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้าน และนักท่องเที่ยวจะพากันนำอุปกรณ์ สวิง หรือกระชอน ดักตักปูแป้นเพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งที่ ท่าเทียบเรือขลุง หมู่10 ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นจุดหนึ่งในหลาย ๆ แห่ง ที่เป็นลำคลองน้ำทะเล น้ำกร่อยที่ปูแป้นหรือปูใบไม้จะลอยตามน้ำออกมาจากป่าจาก ป่าโกงกาง มีชาวบ้านนำอุปกรณ์มาดักรอตักปูแป้นเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารรับประทาน รวมทั้ง บางรายตักเพื่อนำไปจำหน่ายโดยมีการดัดแปลงอุปกรณ์สวิงต่อด้วยด้ามไม้ไผ่ขนาดยาวเพื่อให้ตักได้ระยะไกล รวมทั้งมีไฟฉายส่องสว่างให้มองเห็นปูแป้นที่ลอยตามน้ำมา หากคืนไหนน้ำขึ้นสูงก็จะมองเห็นปูแป้นลอยตามน้ำจำนวนมากกว่าเวลาน้ำลง เพราะน้ำขึ้นส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของปูแป้นในป่าชายเลน หรือรูปูแป้นถูกน้ำท่วมปูแป้นก็จะออกมาลอยคอเพื่อผสมพันธุ์ วางไข่ในทะเล หรือที่น้ำเค็มตามความเหมาะสม และจะออกเป็นประจำทุกปีหลังเทศกาลออกพรรษา แต่ปีนี้ปริมาณปูแป้นตามคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย มีปริมาณปูแป้นที่น้อยลงกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านบอกว่าอาจะเป็นเพราะลมหนาวยังมาไม่มากหากมีลมพัดแรงปูก็จะออกเยอะ

แต่ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์เริ่มให้ความเป็นห่วงทรัพยากรธรรมชาติ และการดำรงชีวิต สืบพันธุ์ของปูแป้นที่เกรงว่ามนุษย์ตักมาบริโภค หากปูยังไม่ได้ขยายเผ่าพันธุ์ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ห่วงโซ่ วงจรชีวิตของธรรมชาติทางทะเลจะเสียสมดุลยและมีโอกาสที่ปูแป้นหรือปูใบไม้จะสูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมนำอุปกรณ์ตักปูแป้นที่เราไม่รู้ว่าธรรมชาติของเค้าออกมาได้ขยายพันธุ์ในลำคลองแล้วหรือยัง ก่อนที่จะถูกตักไปบริโภค อย่างไรก็ตาม ปูแป้นที่ชาวบ้านตักได้นอกจากจะนำไปแปรรูปเป็นอาหาร อาทิ แช่น้ำปลา ยำ หรือเป็นส่วนผสมของก๋วยเตี๋ยวผัดแล้ว ความนิยมในการบริโภคปูแป้นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันราคาซื้อขายสดอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 150 บาท ถึง 250 บาท บางรายสามารถจับปูแป้นขายได้มากกว่าคืนละ 1,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมของชาวประมงพื้นบ้านในช่วงฤดูนี้ที่มีระยะสั้นประมาณ 1 – 2 เดือน

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก