ข่าวรัฐสภา

กมธ.อุดมศึกษาฯ วุฒิสภา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กมธ.อุดมศึกษาฯ วุฒิสภา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

.
วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 โซน N อาคารรัฐสภา (ฝั่ง สผ.) คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา นำโดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ จัดการประชุมเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารกระทรวง ในประเด็นด้านการเรียนการสอนภายในสถาบันอุดมศึกษา การบูรณาการการวิจัยสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน
.
ทั้งนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยในด้านการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม จะมุ่งเน้นทั้ง เพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ

โดยนโยบายมุ่งเน้นของ อว.ในด้านการอุดมศึกษา คือ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ให้ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง หัวใจสำคัญ คือ การลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง และการลดภาระของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความสุข ทั้งในระหว่างการศึกษาและเมื่อจบแล้วมีอาชีพ มีรายได้ รวมทั้งทำให้อาจารย์ผู้สอนมีความสุข สามารถทำงานได้คล่องตัว โดยจะจัดให้มีระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต, จัดให้มีแพลตฟอร์มเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และลดค่าใช้จ่าย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น (Non-Degree) รวมถึงการจัดทำระบบวัดผลทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate), เพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ สามารถลงทะเบียนโดยไม่จำกัดจำนวนหน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษา พร้อมสนับสนุนให้มีรายได้ระหว่างเรียน หรือ “ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย” ในส่วนการลดภาระอาจารย์ผู้สอน จะมีการปรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ โดยเพิ่มน้ำหนักการประเมินเรื่องความสามารถและความสำเร็จของนักศึกษานอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการ รวมถึงกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละขั้นตอน นโยบายมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green พอเพียง ความยั่งยืน (Sustainabilty) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
.
โดยคณะกรรมาธิการได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับ เพื่อประกอบการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน