Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวมุกดาหาร ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

ปลัด มท. มอบถ้วยรางวัลเส็งกลองกิ่ง (จึ่ง) งานบุญผะเหวดบุญเดือน 4 วัดโพธิ์ศรี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร เยี่ยมชมครัวเรือนตัวอย่าง สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จาม

ปลัด มท. มอบถ้วยรางวัลเส็งกลองกิ่ง (จึ่ง) งานบุญผะเหวดบุญเดือน 4 วัดโพธิ์ศรี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
เยี่ยมชมครัวเรือนตัวอย่าง
สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จาม

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปยังวัดโพธิ์ศรี บ้านดงภู่ ต.น้ำเที่ยง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยเป็นประธานถวายถ้วยรางวัลชนะเลิศการเส็งกลองกิ่ง (จึ่ง) งานบุญผะเหวดบุญเดือน 4 แด่พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี เพื่อเป็นรางวัลให้กับทีมชาวบ้านที่จะเข้าแข่งขัน ในระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2567 พร้อมทั้งรับชมการแสดงฟ้อนรำ “ออนซอนชนเผ่าชาวคำชะอี” ของกลุ่มสตรี 5 ชนเผ่าในพื้นที่ และรับชมการสาธิตเส็งกลองกิ่ง ระหว่างชุมชนบ้านดงภู่ หมู่ที่ 5 กับหมู่ที่ 11 และร่วมเส็งกลองกิ่ง กับนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และเยี่ยมชมโครงการกุฏิชีวาภิบาล ศูนย์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอกราบอนุโมทนาสาธุการพระเดชพระคุณ พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ผู้เป็นหลักชัยของพี่น้องสาธุชนตำบลน้ำเที่ยงแห่งนี้ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด “กลองกิ่ง” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นกลองที่อยู่คู่ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อำเภอคำชะอีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ไทกะเลิง ย้อ ข่า และชาวไทยอิสาน ในงานประเพณีฮีต 12 หรือเทศกาลต่าง ๆ เช่น บุญผะเหวด บุญบั้งไฟ บุญแข่งเรือ งานบุญ งานบวช งานแต่งงาน แห่กัณฑ์หลอน บุญกฐิน พิธีสืบชะตา โดยเชื่อกันว่าเสียงของกลองจะดังไปถึงพญาแถน เมื่อพญาแถนได้ยินเสียงกลองกิ่งเป็นสัญญาณให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และยังเชื่อกันว่าความดังของเสียงกลองกิ่งจะดังถึงผีสางเทวดาให้รับรู้แทนคำพูดของมนุษย์ ส่วนด้านความสัมพันธ์กับสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำกลองส่วนใหญ่จะมีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม หากเป็นผู้ตีกลองก็มักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ นิสัยร่าเริง รู้จักให้อภัยผู้อื่น สำหรับช่างทำกลองเป็นผู้มีภูมิปัญญา ใช้ความสามารถและเทคนิคต่าง ๆ สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ตกแต่งวัสดุ ทำให้เกิดเสียงเพื่อเป็นสัญญาณต่าง ๆ ตลอดจนถึงการขับเคลื่อนโครงการกุฏิชีวาภิบาล ศูนย์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่เป็นสถานที่ที่มีคุณประโยชน์ในการดูแลรักษาพระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธในขั้นปฐมภูมิ โดยมีคุณหมอ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดูแลสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอคำชะอี และในพื้นที่บริเวณวัดแห่งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ที่ได้ถูกจัดทำขึ้นระหว่างกระทรวงมหาดไทยและเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เพื่อมุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ร่วมดูแลศาสนสถานให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของคนในชุมชน

พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี กล่าวว่า การเส็งกลองกิ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งกลองกิ่งหรือกลองเส็ง เป็นกลองประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ลักษณะการนำไปใช้จะใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของประเพณีนั้น ๆ แต่ที่เหมือนกัน คือ กลองกิ่งเป็นกลองที่ใช้ในการแข่งขันความดัง เรียกว่า การเส็งกลอง เป็นการตีด้วยไม้ หน้ากลองขึงด้วยหนังควายหรือหนังวัว ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะหาด ไม้ประดู่ ไม้พะยุง เป็นกลองขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ยากต่อการเคลื่อนย้าย ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการบรรเลง โดยลักษณะของกลองกิ่งเป็นกลอง 2 หน้า ทำให้เกิดเสียงด้วยการตีด้วยไม้ ตัวกลองมีรูปร่างปากกว้างก้นแคบ โดยหน้ากว้าง เรียกว่า หน้าใหญ่ ส่วนก้นที่แคบเรียกว่า หน้าน้อย ซึ่งกลองกิ่ง 1 ชุด ประกอบด้วย กลอง 2 ใบที่มีขนาดเท่ากัน

ต่อมาในเวลา 15.40 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางเยี่ยมชมครัวเรือนตัวอย่างผู้น้อมนำแนวพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของนางประภาศรี พรทอง หมู่ 1 บ้านดอนสวรรค์ ตำบลน้ำเที่ยง ซึ่งได้แปลงพื้นที่บริเวณโดยรอบบ้านให้กลายเป็นสวนพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรนานาชนิด โดยในแต่ละวันจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในบริเวณแปลงพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร มาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และยังมีพืชผักสวนครัวที่เหลือมาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและสมาชิกในชุมชน ทำให้เกิดพลังความรักความสามัคคี ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มาอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นในเวลา 16.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จาม ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดป่าวิเวกวัฒนาราม พร้อมมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข – หมู่บ้านศีลธรรม และกิจกรรมสังฆสงเคราะห์ของคณะสงฆ์อำเภอคำชะอี โดยคณะสงฆ์ธรรมยุต – มหานิกาย และฆราวาส ร่วมเจริญสามัคคีรสธรรมร่วมกันตามหลัก บวร ราช พลัง นำโดย พระครูวิเวกธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม พร้อมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ผักแก่ภาคีเครือข่ายนำไปขยายผลในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน สถานศึกษา และครัวเรือนต่าง ๆ และมอบถุงยังชีพของแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร แก่พี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 20 ครัวเรือน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ “ภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา” โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้นำภาคศาสนาอื่น ๆ มาเป็นภาคีเครือข่าย ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล ต้องมี “ทีมพระ” ลุกขึ้นมายืนเคียงข้างฝ่ายปกครอง กำหนด “พระผู้รับผิดชอบประจำตำบล” ตามแนวทาง “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการประจำตำบล ทุกตำบล”

พระครูวิเวกธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม กล่าวว่า คณะสงฆ์อำเภอคำชะอี ยึดหลักสามัคคีธรรมรสและบูรณาการทำงานร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ตามหลักการขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณร่วมประสานกับแนวทางใหม่ โดยยึดหลักพระธรรมพระวินัย อาศัยภูมิพื้นความศรัทธา ความเชื่อ ความเคารพนับถือของแต่ละชุมชน มาเป็นหลักการในการดำเนินการเผยแผ่ระดับชุมชน/หมู่บ้าน ในด้านการเผยแผ่ระดับที่สูงขึ้นยึดหลักการตามแนวทางมหาเถรสมาคม สำหรับในด้านสาธารณูปการ มุ่งจัดการการศาสนสมบัติ การศาสนวัตถุ ทั้งพระพุทธรูปศิลปะพื้นบ้านพื้นถิ่นอีสาน บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะตามกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธา และภาวะเร่งด่วน โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเสริมจากทางราชการ และรายได้ของวัด เช่น กฐิน ผ้าป่า นอกจากนี้ คณะสงฆ์ยังได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลบรรเทาสาธารณภัยเมื่อประสบภัย เช่น พายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ โดยคำนึงถึงศาสนวัตถุ เสนาสนะ และเครื่องประกอบเสนาสนะ อันเป็นส่วนแห่งสาธารณูปโภค ในรูปแบบโครงการต่าง ๆ ที่กระตุ้นเตือนให้รักษาสมบัติของพระพุทธศาสนา.