ข่าวรัฐสภา

อาคารรัฐสภา 1 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พลเอก ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานคณะกรรมาธิการ แถลงข่าวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งในขั้นตอนจะได้นำส่งร่างให้คณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2561 สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลือมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขแล้วลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และนางจ้างได้รับความเป็นธรรม อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสของกองทุนเงินทดแทนด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาลที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาซึ่งทำให้ลูกจ้างภาครัฐ ทั้งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างภาคเอกชน จำนวน 10 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์และมีหลักประกันของชีวิตดีขึ้นต่อไปด้านนายมนัส โกศล โฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย การปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน จากเดิมร้อยละ 3 และเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ รัฐมนตรีมีอำนาจลดการจ่ายเงินเพิ่ม การอำนวยความสะดวกในการยื่นหรือแจ้ง เพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับ ประกอบด้วย การขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคน การเพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้างจากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพจาก 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายจากเดิม 8 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี เพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมสูงสุด 2 ล้านบาท เป็นสิ้นสุดการรักษา หากลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ ตั้งแต่ 3 วัน ได้แก้ไขเป็นตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปให้ได้รับค่าทดแทน นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มค่าทำศพจากเดิมที่คิด 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดขณะที่ นางอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดูแลคุ้มครองลูกจ้าง โดยระหว่างรอร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลูก 13 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศกระทรวงแรงงาน และประกาศของสำนักงานประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง โดยขณะนี้ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้เห็นชอบกฎกระทรวง 3 ฉบับแล้ว และจะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป คาดวาจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปี 2561

ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน