ข่าวรัฐสภา

สว.ภาคกลาง ติตดามการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดเพชรบุรี

สว.ภาคกลาง ติตดามการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดเพชรบุรี

.
วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดย นายวิทยา ผิวผ่อง รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายลักษณ์ วจนานวัช พลเอก ดนัย มีชูเวท นายไพโรจน์ พ่วงทอง นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร นางสุนี จึงวิโรจน์ และนายทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา นายณรงค์วิทย์ พบพาน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวชนิดา จันทรนคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวสมลักษณ์ บุนนาค ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 5 (ภาคกลางและภาคตะวันออก) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลงพื้นที่เยี่ยมชมพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี ผศ.ดร.ธนิศร์ ปัทมพิฑูร ผู้จัดการฝ่ายบริการวิชาการ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผศ.ดร.วัชรพงษ์ วาระรัมย์ หัวหน้าฝ่ายห้องปฏิบัติการเคมี โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป จากนั้น คณะสมาชิกวุฒิสภา ได้เยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

.
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการบำบัดน้ำเสียที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริด้านการแก้ปัญหาขยะและน้ำเสีย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะชุมชนที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย โดยยึดหลัก “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ซึ่งการบำบัดน้ำเสียมีอยู่ 4 ระบบ ระบบแรกคือ บ่อบำบัดน้ำเสีย จะใช้บ่อบำบัด 5 บ่อ เป็นบ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ บ่อปรับสภาพ 1 บ่อ แต่ละบ่อใช้เวลาบำบัด 7 วัน ระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ระบบที่สามคือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ระบบที่สี่คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน โดยให้ธรรมชาติบำบัดตัวเองตามเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวันอาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน
.
คณะสมาชิกวุฒิสภาได้ให้ข้อเสนอแนะว่าโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควรร่วมเป็นคณะทำงานและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้อง วิธีการบำบัดน้ำเสีย แก่ประชาชนเพื่อจะได้ลดน้ำทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียให้เริ่มตั้งแต่บ้านเรือน ขยายไปสู่ชุมชน และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน