ข่าวรัฐสภา

สว. เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเรียกร้องเพื่อภูมิภาคซาเฮลของสหภาพรัฐสภาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

สว. เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเรียกร้องเพื่อภูมิภาคซาเฮลของสหภาพรัฐสภาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 27 – 28 กันยายน 2566 นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extremism: HLAG-CTVE) ของสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายของ IPU ภายใต้ชุดการประชุม “การเรียกร้องเพื่อภูมิภาคซาเฮล และการตอบสนองจากประชาคมโลก (The Call of the Sahel: A Global Response Meeting Series on Counter-Terrorism)” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นชุดการประชุม จำนวน 2 วัน จำแนกตามประเด็นเฉพาะ โดยในวันที่หนึ่งเน้นอภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาในภูมิภาค ขณะที่ในวันที่สองเน้นอภิปรายถึงการศึกษาในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “Investment in development and education to rebuild the future of the Sahel”

การประชุมจัดขึ้นต่อเนื่องตามแผนการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาที่มีผลโดยตรงต่อความไม่สงบในภูมิภาคซาเฮล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะนำไปสู่สันติภาพและความยั่งยืนในภูมิภาค โดยในครั้งนี้เป็นการเจาะลึกประเด็นการพัฒนาและการศึกษาในภูมิภาค ที่ประชุมได้รับฟังการอภิปรายซึ่งผู้อภิปรายส่วนใหญ่มีท่าทีคาดหวังที่จะเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านองค์ความรู้ ทักษะ และคุณค่า โดยรัฐสภาก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกลไกให้สามารถปรับตัวเข้ากับพหุวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของภูมิภาคนี้ ผ่านความร่วมมืออย่างครอบคลุม และแนวทางการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคมเพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและลดความเปราะบางในสังคม ซึ่งมีต้นตอมาจากความท้าทายหลักใหญ่ 3 ด้านของภูมิภาคซาเฮล ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ และธรรมาภิบาลอันเป็นผลจากมรดกตกทอดของการคอร์รัปชัน ทั้งนี้ มีแนวทางของการแก้ไขโดยเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางประชากรเพื่อการพัฒนา การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านด้านธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ควรอาศัยแนวทางสันติภาพเชิงบวก (Positive peace approach) เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่ตามสื่อสังคมเป็นไปอย่างถูกต้อง และเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชน

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน