ข่าว สรุาษฎร์ธานี ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

สุราษฎร์ธานีประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างโครงการท่าเทียบเรือ ของบริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด

26 มีนาคม 67  ที่ โรงแรมวังใต้ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (เพิ่มเติม) ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ โครงการท่าเทียบเรือ (ส่วนท่าเทียบเรือ B และ C) ของบริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม กว่า 360 คน


กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยนำเสนอไว้ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เพื่อทบทวนขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อร่างข้อเสนอโครงการ แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนมากที่สุด

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือนั้น มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ ความสำเร็จของโครงการจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าโครงการจะก่อเกิดผลดีในภาพรวมตามแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ด้านการพัฒนาโครงการคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ ส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้า แต่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชนบางกลุ่ม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมความร่วมมือต่อโครงการนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน


สำหรับ บริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจมารีนและโลจิสติกส์ ในเครือบริษัท เอสซี กรุ๊ป ให้บริการด้านการขนส่งปิโตรเลียม น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ (CNG/NGV) เคมีภัณฑ์ รถยนต์ และสินค้าทั่วไปทั้งทางบกและทางน้ำ มีท่าเทียบเรืออยู่ในตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี มีสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ เนื้อที่ 22 ไร่ จำนวน 4 ท่าเทียบเรือ ซึ่งบริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การให้บริการ ท่าเทียบเรือ B และ C ให้สามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และรองรับเรือขนาดมากกว่า 500 ตันกรอสได้ ทำให้เข้าข่ายที่จะต้องทำการศึกษา และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงนำมาสู่การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว