ข่าวแพร่

แพร่ “โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมวางพวงมาลารำลึก ในโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดแพร่และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 จังหวัดแพร่ ด้านหลังโรงแรมภราดร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่
จังหวัดแพร่ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มอบหมายให้ นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ให้การต้อนรับ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วย กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และคณะในโอกาสเดินทางมาร่วมงานวันรำลึกวีรกรรมเสรีไทยแพร่ ประจำปี 2566

นอกจากนี้ยังมี นายธาดา เศวตศิลา ทายาทเสรีไทย พร้อมด้วยคณะ โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และทายาทเสรีไทย ได้ร่วมกันวางพวงมาลารำลึกถึง 3 วีรชนผู้กล้าคือ นายอุทัย กันทาธรรม นายทอง กันทาธรรม และนายสม กันทาธรรม อดีตเสรีไทยแพร่ บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 จังหวัดแพร่ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

นายภุชงค์ กันทาธรรม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ นั้นทายาทของอดีตเสรีไทยแพร่ได้จัดสร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้กล้า 3 คน ที่ได้เสียสละชีพ เพื่อประเทศชาติ และระลึกถึงคุณงามความดีของอดีตบรรพชนผู้กล้าเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อเป็นการสืบสานดำรงไว้ซึ่งแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าแด่อนุชนรุ่นหลัง ตลอดจนเพื่อรำลึกถึงขบวนการเสรีไทยในอดีต

ขบวนการเสรีไทยในภาคเหนือมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแพร่ มีนายปรีดี พนมยงค์ และนายทอง กันทาธรรม เป็นผู้นำหลักในการปฏิบัติการครั้งแรก การกำเนิดเสรีไทยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยกองทัพญี่ปุ่นที่มีกำลังมากกว่า ได้เข้ามายึดครองประเทศไทย และดินแดนส่วนใหญ่ในภาคพื้นเอเชีอาคเนย์ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจำเป็นต้องให้ความร่วมมือแก่ญี่ปุ่น และในปี 2484 ญี่ปุ่นกับไทยได้ลงนามในกติกาสัญญาเป็นพันธมิตรกัน ประเทศไทยจึงได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ คนไทยทั้งในและต่างประเทศ ผู้มีจิตสำนึกในความเป็นคนไทยจึงรวมพลังก่อเกิดขบวนการเสรีไทย โดยเชื่อว่าการรบในระยะยาว กำลังของฝ่ายพันธมิตรจะเติบโตและสามารถเอาชนะสงครามได้ ไทยอาจประสบปัญหาเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ขบวนการเสรีไทยจึงได้ติดต่อพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรในทุกทาง ทั้งด้านการทหาร การทูต และการเมือง ด้วยความสุขุมรอบคอบ ได้สร้างความประทับใจในความจริงใจของขบวนการเสรีไทยแก่ฝ่ายพันธมิตร เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนในปี 2488 ประเทศไทยจึงไม่ถือว่าเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องถูกยึดครอง และให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับนานาชาติกลับคืนสู่สถานภาพเหมือนก่อนสงคราม ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันที่ระลึกถึง “วีรกรรมกู้ชาติของขบวนการเสรีไทย”

ญาณัจฉรา โชติถนอมกิจ
ราเชนทร์ โชติถนอมกิจ

แพร่….รายงาน