ข่าวการศึกษาและไอที

ม.อุบลฯปลูกฝังชาวบ้านให้ความรู้ด้านพลังงานทดแทน

ม.อุบลฯปลูกฝังชาวบ้านให้ความรู้ด้านพลังงานทดแทน
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ให้ความรู้สร้างความเข้าใจด้านพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมดให้แก่ประชาชน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน(พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ตามที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินโครงการ “อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน (พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)” แผนบูรณาการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน โดยมี นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดการอบรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการอาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน(พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติยา วงษ์ขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ร่วมโครงการฯ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานพร้อมการใช้งาน การดูแล และบำรุงรักษาให้แก่องค์กรบริหารส่วนตำบลและประชาชนทั่วไป มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 70 คน สำหรับการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชวิน นามมั่น ดร.สมปอง เวฬุวนาธร และ นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้งานอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อการเกษตร” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติยา วงษ์ขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และผู้ร่วมโครงการฯ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร” ณ องค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้ว และครั้งที่ 5 เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งจะจัดขึ้น ณ โรงเรียนขุขันธ์ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยกระแสตอบรับจากผู้เข้ารับการอบรมทุกครั้งที่ผ่านมาดีมาก เนื่องจากเนื้อหาการอบรมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้าและการอนุรักษ์พลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันทั่วโลกมีการตื่นตัวหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือ พลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญในอนาคต ที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยตรง โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar energy) หรือการผลิตเอทานอลจากพืช ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่เป็นอีกแหล่งพลังงานทางเลือกของประเทศไทยที่เกิดจากการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่ง
ซึ่งจุลินทรีย์กลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยก๊าซออกซิเจนทำการย่อยสลาย และจะเกิดก๊าซกลุ่มใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ก๊าซมีเทน (Methane – CH4) ส่วนการประยุกต์ใช้งานอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางวิทยากรได้นำความรู้ที่ใกล้ตัวผู้เข้ารับการอบรมมากที่สุดมาสาธิต อาทิ ระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าแบบออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน และเสียง รวมทั้งระบบควบคุมแสงสว่างภายในบ้านแบบอัตโนมัติ เฉพาะพื้นที่ที่มีคนอยู่เท่านั้น ตลอดจนระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันไลน์เมื่อลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ระบบวัดพลังงานความร้อน ความชื้น และระบบวัดความเร็วลม เป็นต้น โดยการนำค่าพลังงานที่วัดได้ไปควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ทำงานตามความเหมาะสมและความจำเป็นของการใช้งาน ซึ่งจะทำให้การใช้พลังงานในชีวิตประจำวันประหยัดมากยิ่งขึ้น
———————————-

 

ข่าว กฤษณะ วิลามาศ/อุบลราชธานี